ฤทธิ์ปกป้องตับและต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมล็ดองุ่น

ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับและต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมล็ดองุ่นในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ oxidative stress ด้วยแอลกอฮอล์ โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 ป้อนด้วยอาหารมาตรฐานและน้ำเปล่า (control) กลุ่มที่ 2 ป้อนด้วยอาหารที่มีเอธานอล 20 เปอร์เซ็นต์ (20% alc.) กลุ่มที่ 3 ป้อนอาหารที่มีสารสกัดเมล็ดองุ่น 15 เปอร์เซ็นต์ (15% GS) และกลุ่มที่สี่ป้อนด้วยอาหารที่มีเอธานอล 20 เปอร์เซ็นต์กับสารสกัดเมล็ดองุ่น 15 เปอร์เซ็นต์รวมกัน (20% alc.+15% GS) เมื่อเลี้ยงครบ 50 วัน ทำการฆ่าและเก็บเนื้อเยื่อของอวัยวะภายใน (สมอง ไต ม้าม หัวใจ และตับ) เพื่อวิเคราะห์หาค่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระได้แก่ glutathione peroxidase (GPx) glutathione reductase (GR) superoxide dismutase (SOD) glutathione S-transferase (GST) และวิเคราะห์การเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxide) ด้วยการวัดค่าของ malondialdehyde (MDA) และทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับได้แก่ aspartate aminotransferase (AST) alanine aminotransferase (ALT) γ-glutamyl transferase (GGT) และ lactate dehydrogenase (LDH) ผลจากการทดลองพบว่า หนูในกลุ่มที่ 2 (20% alc.) มีค่าเอนไซม์ AST ALT GGT LDH และค่า MDA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และค่าเอนไซม์ GPx GR SOD และ GST ลดลง เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ 1 (control) และ 3 (15% GS) และเมื่อพิจารณาค่าเอ็นไซม์ของหนูกลุ่มที่ 4 (20% alc.+15% GS) พบว่าสามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ AST ALT GGT และ LDH ในเลือด ยับยั้งการลดลงของเอนไซม์ GPx GR SOD GST และยับยั้งการเพิ่มขึ้นของ MDA ในเนื้อเยื่อ จนมีค่าใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุม ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมล็ดองุ่นมีฤทธิ์ปกป้องตับ และต้านการเกิดอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่อ จากการเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ oxidative stress ด้วยแอลกอฮอล์

Br J Nutr. 2012; 107(1): 45-51