ฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารสกัดจากเมล็ดลำไย

การทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อราและยีสต์ของสารสกัดจากลำไย 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สารสกัดจากเมล็ดลำไยพันธุ์ใบดำ และสารสกัดจากเมล็ด เนื้อ และลำไยทั้งผลพันธุ์อีดอ เปรียบเทียบกับสารโพลีฟีนอลิกที่พบในลำไย ได้แก่ กรด gallic กรด ellagic และ corilagin พบว่าสารสกัดจากเมล็ดลำไยทั้ง 2 พันธุ์ มีฤทธิ์ต้านยีสต์ Candida  หลายชนิด และเชื้อรา Cryptococcus neoformans  ขณะที่สารสกัดจากเนื้อและลำไยทั้งผลไม่มีฤทธิ์ กรด ellagic จะมีฤทธิ์แรงที่สุดในการต้านเชื้อราตามด้วย corilagin และกรด gallic ตามลำดับ กรด ellagic สามารถต้านเชื้อ Candida parapsilosis  และ Cryptococcus neoformans  ได้ดีกว่าเชื้อ C. krusei  และ C. albicans  บางสายพันธุ์ สารสกัดจากเมล็ดลำไยพันธุ์ใบดำ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อราแรงกว่า และมีปริมาณของกรด ellagic และกรด gallic สูงกว่าพันธุ์อีดอ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร corilagin และกรด gallic มีฤทธิ์อ่อนจนถึงปานกลางในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus  และ Streptococcus mutans  เมื่อนำสารสกัดจากเมล็ดลำไยมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลช่องปาก พบว่าผงฟู่ซึ่งมีสารสกัดจากเมล็ดลำไย 5% จะช่วยลดการยึดติดของเชื้อ C. albicans  กับแผ่นแปะฟัน (acrylic strips) ได้ น้ำยาบ้วนปากที่มีสารสกัดจากเมล็ดลำไย 0.5% มีผลต้านเชื้อราได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดอื่นๆ แสดงว่า สารสกัดจากเมล็ดลำไยและสารโพลีฟีนอลิกที่พบ สามารถใช้เป็นสารต้านเชื้อราในผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากสำหรับรักษาโรคติดเชื้อราฉวยโอกาส

Fitoterapia 2012;83:545–53.