ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากต้นโพธิ์ในหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน

การศึกษาแรกเป็นการศึกษาในหนูแรทปกติ โดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมให้กินน้ำกลั่น กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ป้อนสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผง ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ การศึกษาที่สองเป็นการศึกษาในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร streptozotocin ขนาด 55 มก./กก. ฉีดเข้าทางช่องท้อง นาน 5 วัน เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือด : fasting blood sugar มีค่ามากกว่า 250 มก./ดล. จากนั้นแบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมให้กินอาหารปกติกับน้ำกลั่น กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ทำให้เป็นเบาหวานร่วมกับน้ำกลั่น กลุ่มที่ 3, 4 และ 5 เป็นกลุ่มที่ทำให้เป็นเบาหวานร่วมกับการป้อนสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผง ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ และกลุ่มที่ 6 เป็นกลุ่มที่ทำให้เป็นเบาหวานร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด glibenclamide 10 มก./กก. นาน 21 วัน การศึกษาที่สามเป็นการศึกษาด้านความเป็นพิษ โดยแบ่งหนูออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 3 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมให้กินน้ำกลั่น กลุ่มที่ 2 ป้อนสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผงขนาด 2,000 มก./กก. ครั้งเดียว พบว่าการศึกษาในหนูปกติที่ป้อนสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผง ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 13.44, 24.72 และ 26.2% ตามลำดับ และการทดสอบความทนของกลูโคส (glucose tolerance test) ในหนูปกติ โดยป้อนสารสกัด 60 นาที ก่อนป้อนน้ำตาล พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังป้อนน้ำตาล 60 นาที ได้ 13.04, 20.15 และ 14.36% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับน้ำ ส่วนการศึกษาในหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน พบว่าสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผง ขนาด 25, 50 และ 100 มก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 28.56, 49.65 และ 48.58% ตามลำดับ ในขณะที่ยา glibenclamide สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 61.66% และสารสกัดยีงมีผลเพิ่มระดับอินซูลิน เพิ่มระดับไกลโคเจนในตับและกล้ามเนื้อ ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดโดยที่ขนาดสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผงที่ให้ผลดีที่สุด คือ ขนาด 50 มก./กก. เมื่อเปรียบเทียบกับยา glibenclamide นอกจากนี้ยังพบว่าการเหนี่ยวนำให้หนูเป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ทำให้หนูน้ำหนักตัวลดลง แต่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผงทั้งสามขนาดน้ำหนักร่างกายสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน ส่วนการศึกษาด้านความเป็นพิษเฉียบพลันบที่ขนาด 2,000 มก./กก. ครั้งเดียว ไม่พบความผิดปกติใดๆ ใน 24 ช.ม. และการติดตามอีก 14 วัน ไม่พบพยาธิสภาพที่ผิดปกติ จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผง ขนาด 50 มก./กก. ให้ผลดีที่สุดในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูแรท ซึ่งให้ผลใกล้เคียงกับยาแผนปัจุบัน glibenclamide และขนาดของสารสกัดน้ำของเปลือกต้นโพธิ์บดผงที่ปลอดภัยโดยไม่ทำให้เกิดพิษคือ 2,000 มก./กก

J Ethnopharmacol 2010;128:462-6.