ฤทธิ์ขับปัสสาวะของหญ้าหนวดแมว

การศึกษาในหนูแรทเพศผู้ น้ำหนัก 180 - 200 กรัม จำนวน 15 ตัว แบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 3 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม (negative control) ให้กินน้ำเปล่า 1 ml/ตัว ทางปาก กลุ่มที่ 2 และ 3 เป็นกลุ่ม positive control ให้กินยาแผนปัจจุบัน furosemide และ hydrochlorothiazide ขนาด 10 มก./กก. ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 และ 5 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดหญ้าหนวดแมวขนาด 5 และ 10 มก./กก. ตามลำดับ ให้กินอาหารและน้ำตามปกติ ทำการเก็บปัสสาวะทุก 1 ชม. นาน 4 ชม. เพื่อดูปริมาณอิเลคโตรไลท์ในปัสสาวะรวมทั้งโซเดียม (Na+) โปตัสเซียม (K+) และคลอไรด์ (Cl-) และตรวจระดับ glucose, albumin, blood urea nitrogen (BUN) และ creatinine ในกระแสเลือด พบว่าหนูแรทกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากหญ้าหนวดแมวขนาด 5 และ 10 มก./กก. ปริมาณปัสสาวะที่ขับออกมามากที่สุดในชั่วโมงสุดท้ายมีค่าเท่ากับ 0.48 และ 0.81 มล. ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน furosemide และ hydrochlorothiazide ซึ่งกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบันปริมาณปัสสาวะใน 4 ชม.จะมากที่สุด (furosenide 25.07 ± 4.79 มล./กก. hydrochlorothiazide 23.16 ± 0.61 มล/กก.) ซึ่งสารสกัดจากหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะเท่ากับ 15.51 มล./กก. ในขณะที่ยา furosemide และ hydrochlorothiazide เท่ากับ 23.43 และ 21.64 มล./กก. ตามลำดับ กลุ่มที่ได้รับยา furosemide และ hydrochlorothiazine จะมีการขับโซเดียมและคลอไรด์ในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้นในขณะที่สารสกัดจากหญ้าหนวดแมวจะมีการขับ โปตัสเซียมและคลอไรด์ออกมากับปัสสาวะมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (negative control) นอกจากนี้สารสกัดหญ้าหนวดแมวยังมีฤทธิ์ในการเพิ่มระดับ glucose, albumin, BUN และ creatinine ในเลือดให้สูงขึ้น จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดจากหญ้าหนวดแมวมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ แต่ฤทธิ์ยังอ่อนกว่ายาแผนปัจจุบัน furosomide และ hydrochlorothiazide ซึ่งการใช้หญ้าหนวดแมวในการขับปัสสาวะต้องมีความระมัดระวังเนื่องจากมีผลให้ระดับ BUN และ creatinine ในเลือดสูงขึ้น อาจทำให้ไตมีความผิดปกติได้

J Ethnopharmacology 2009;124:154-8