ฤทธิ์ยับยั้งหลอดเลือดแข็งตัวของไวน์แดงและไวน์ขาว

การทดลองเปรียบเทียบฤทธิ์ของไวน์แดงและไวน์ขาว ความเข้มข้น 0.01 - 3% ในการยับยั้ง platelet-derived growth factor receptor (PDGFR) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของหลอดเลือดในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด (vascular smooth muscle) ของหนูแรท พบว่าไวน์แดงมีฤทธิ์ยับยั้ง tyrosine phosphorylation ของ PDGFR ที่เหนี่ยวนำด้วยสาร PDGF-BB ยับยั้ง mitogen activated protein (MAP) kinase activation (Erk 1/2) เหนี่ยวนำยีน ได้แก่ Egr-1 และ c-fos  และยับยั้งการแบ่งตัวและการเคลื่อนที่ของ PDGF ในเซลล์ ขณะที่ไวน์ขาวไม่มีผล โดยไวน์แดงที่ความเข้มข้น 1% (ซึ่งเทียบเท่ากับการดื่มไวน์ 2 - 3 แก้ว) จะให้ผลดีที่สุดในการยับยั้ง ไวน์แดง ความเข้มข้น 1% ยังมีผลยับยั้งการ phosphorylation ของ PDGFR ในเส้นเลือด aorta ของหนู สำหรับการทดลองในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ (coronary smooth muscle) ของคน พบว่าให้ผลเช่นเดียวกับในหนู โดยไวน์แดงจะยับยั้ง tyrosine phosphorylation ของ PDGFR ยับยั้ง Erk 1/2 และ Akt และยับยั้งการแบ่งตัวและการเคลื่อนที่ของ PDGF ในเซลล์ นอกจากนี้ไวน์แดงยังมีผลยับยั้งการ phosphorylation ของ PDGFR ในเซลล์บุหลอดเลือดที่แยกจากหลอดเลือดดำจากรก (umbilical vein endothelial) ของคนด้วย ขณะที่ไวน์ขาวไม่มีผล เมื่อศึกษาองค์ประกอบของสารเคมีในไวน์ทั้ง 2 ชนิด พบว่าปริมาณสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้ง PDGFR คือ ฟลาโวนอยด์ในไวน์แดงจะมากกว่าไวน์ขาว ซึ่งสารฟลาโวนอยด์จะถูกสกัดจากองุ่นในขั้นตอนกระบวนการหมักองุ่น (mash fermentation) ที่ใช้เฉพาะกับการผลิตไวน์แดงเท่านั้น สรุปว่าไวน์แดงเท่านั้นที่มีผลยับยั้งการแข็งตัวของหลอดเลือดในเซลล์ได้

Cardiovascular Research 2009;81:758-70.