ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดเอทานอลจากรากละหุ่ง

การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่ง โดยการป้อนสารสกัดครั้งเดียวขนาด 125, 250, 500, 750, 1,000 และ 2,000 มก./กก. ให้กลุ่มหนูขาวเพศผู้ปกติและกลุ่มหนูขาวเพศผู้เป็นเบาหวานType1 โดยเทียบกับการป้อนยามาตรฐาน tolbutamide ขนาด 200 มก/กก และ 500 มก./กก. สำหรับหนูปกติและหนูเบาหวานตามลำดับ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting blood glucose) ที่เวลา 0, 1, 2, 4, 6 และ 8 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่งขนาด 500 มก./กก. มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากที่สุดและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญที่ชั่วโมงที่ 6 และ 8 ในหนูปกติและชั่วโมงที่ 8 ในหนูเบาหวาน ซึ่งสารสกัดรากละหุ่งลดน้ำตาลในเลือดได้เหมือนกับ tolbutamide ในหนูปกติและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า tolbutamide ในหนูเบาหวาน

ดำเนินการศึกษาต่อไปโดยป้อนสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่งขนาด 500 มก./กก./วัน (ให้ผลลดน้ำตาลได้สูงสุด) ให้หนูขาวเป็นเบาหวาน Type 1 เป็นเวลา 20 วัน พบว่าสารสกัดขนาด 500 มก./กก. ไม่เพียงแต่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดแต่ยังมีผลลดระดับไขมันโดยรวม มีผลต่อการทำหน้าที่ของตับและไต โดยลดระดับ alkaline phosphatase, serum bilirubin, cretinine, serum glutamate oxaloacetate transaminase, serum glutamate pyruvate transaminase, เพิ่มระดับโปรตีนโดยรวมในระยะเวลา 10 และ 20 วันและมีผลเพิ่มระดับอินซูลินในเซรัมอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลา 20 วัน

การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันโดยการป้อนสารสกัดเอทานอล 50% จากรากละหุ่งขนาด 2.5, 5.0, 7.5 และ 10.0 ก./กก. ให้หนูขาวไม่เป็นเบาหวาน หลังจากการป้อน 24 และ 72 ชม. พบว่าไม่มีผลต่อระดับ alkaline phosphatase, serum bilirubin, cretinine, serum glutamate oxaloacetate transaminase, serum glutamate pyruvate transaminase และtotal protein เมื่อได้รับสารสกัดทุกขนาดดังกล่าว และพบว่าพฤติกรรมของหนูขาวเป็นปกติในระยะเวลา 1สัปดาห์

Food and Chemical Toxicology 46 (2008) 3458-3466