ผลของส้มแขก (Garcinia cambogia  ) และบุกในการรักษาผู้เป็นโรคอ้วน

การศึกษาชนิด double-blind randomized study ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนเกรด 1 หรือเกรด 2 ทั้งเพศชายและหญิง ซึ่งมีอายุระหว่าง 25-60 ปี ดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ระหว่าง 30-39.9 กก./ม2 โดยแบ่งผู้ที่เป็นโรคอ้วนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานยาหลอก จำนวน 26 คน (ผู้หญิง 21 คน ผู้ชาย 5 คน) กลุ่มที่ 2 จำนวน 32 คน (ผู้หญิง 25 คน ผู้ชาย 7 คน) ให้รับประทานสารสกัดส้มแขก (Garcinia cambogia  ) ซึ่งมี hydroxycitrate 52.4% โดยบรรจุเป็น capsule ขนาด 800 มก. และสารสกัดบุก (Amorphophallus konjac  ) ซึ่งมี glucomannan 94.9% โดยปัจจุบันเป็น capsule ขนาด 500 มก. ให้รับประทานสารสกัดส้มแขก และสารสกัดบุกอย่างละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร 30 นาที ทุกมื้ออาหารเช้า กลางวัน เย็น นาน 12 สัปดาห์ โดยทำการบันทึกน้ำหนัก ความสูง รอบเอว การใช้พลังงานเวลาพัก ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของเอนไซม์ transaminase (AST และ ALT) ในเลือดทุกๆ 4 สัปดาห์ พบว่าไม่มีความแตกต่างของน้ำหนัก ความสูง รอบเอว การใช้พลังงานเวลาพัก ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับ AST และ ALT ในเลือด ในขณะที่ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดส้มแขกและสารสกัดบุก ระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือด ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL-c และ HDL-c ในเลือดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ให้ยาหลอกโดยที่ระดับของคอเลสเตอเรอลรวม และระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL-c ของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดส้มแขกและบุกลดลงจากเริ่มต้น 32.0 ± 35.1 มก./ดล. และ 28.7 ± 32.7 มก./ดล. ตามลำดับ ซึ่งระดับของคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิด LDL-c ลดลงตั้งแต่ในสัปดาห์ที่ 4 ของการทดลอง และไม่มีความแตกต่างกันในสัปดาห์ที่ 4 และสัปดาห์ที่ 12 ของการทดลอง การลดลงของระดับคอเลสเตอรอลรวมจะได้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง > 200 มก./ดล. ซึ่งสามารถลดลงได้ 20.7% ภายใน 12 สัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลรวมปกติ พบว่าระดับคอเลสเตอรอลลดลงเพียง 7.3% ซึ่งจากการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดส้มแขกและสารสกัดบุกสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวมและระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL-c ได้ในผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมากกว่าผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลปกติ แต่ไม่มีผลต่อการลดน้ำหนักในคนที่เป็นโรคอ้วน

Phytother Res 2008;22:1135-40