ผลของสารสกัดหญ้าฝรั่นต่อคุณภาพการนอนหลับ

การศึกษาทางคลินิกแบบปกปิดสองทาง มีการสุ่ม มียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุมแบบคู่ขนาน (double-blind, randomized, placebo-controlled parallel study) เพื่อศึกษาผลของการได้รับสารสกัดหญ้าฝรั่น (Crocus sativus L.) ต่อคุณภาพการนอนหลับ ในอาสาสมัครจำนวน 66 คน อายุระหว่าง 25-70 ปี และมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ (chronic primary sleep disorder) ในระดับอ่อนถึงปานกลาง (มีค่า Insomnia Severity Index ระหว่าง 7 และ 21) ร่วมกับมีอาการของโรควิตกกังวล (anxiety) ในระดับอ่อนถึงปานกลาง (มีค่า Stress Scale ระหว่าง 6 และ 29) โดยอาสาสมัครจะถูกสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับยาหลอก (แคปซูลบรรจุ maltodextrin 275 มก.) และกลุ่มที่ 2 ได้รับสารสกัดหญ้าฝรั่น (แคปซูลบรรจุสารสกัดหญ้าฝรั่น 15.5 มก. และ maltodextrin 259.5 มก.) วันละ 1 แคปซูล นาน 6 สัปดาห์ เก็บข้อมูลการนอนหลับของอาสาสมัครเมื่อเริ่มต้นการทดลอง (baseline) ช่วงกลางของการทดลอง และสิ้นสุดการทดลอง ด้วยอุปกรณ์ actigraphy, ประเมินคุณภาพการนอน (sleep quality) ด้วยแบบสอบถาม Leeds Sleep Evaluation Questionnaire (LSEQ) และ Pittsburgh Sleep Quality Index (PSQI), และประเมินคุณภาพชีวิต (quality of life) ด้วยแบบสอบถาม short-form 36 items (SF-36) หลังสิ้นสุดการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดหญ้าฝรั่นมีระยะเวลาการนอนยาวนานขึ้น หลับง่ายขึ้น และมีคุณภาพการนอนดีขึ้น ซึ่งไม่พบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ทำให้สรุปได้ว่า สารสกัดหญ้าฝรั่นอาจช่วยบรรเทาความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับได้

Nutrients. 2021;13(5):1473