การศึกษาทางคลินิกผลของสารสกัดเมล็ดองุ่นต่อตัวชี้วัดการอักเสบ ฮอร์โมน neuropeptide Y และความหิวอาหาร (appetite) ในอาสาสมัครที่มีน้ำหนักเกิน

การศึกษาทางคลินิก (randomized, double-blind clinical trial) ในอาสาสมัครจำนวน 40 คน ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมล็ดองุ่น (Vitis vinifera; grape) ขนาด 300 มก./วัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก ทั้งสองกลุ่มมีการจำกัดพลังงาน (restricted calorie diet) โดยได้รับอาหารที่มีระดับพลังงานต่ำกว่าความต้องการพลังงานในแต่ละวัน ~250 กิโลแคลอรี ทำการประเมินสัดส่วนของร่างกาย (anthropometric) ค่าทางชีวเคมี ค่าการบริโภคอาหาร (dietary intakes) ระหว่างการทดสอบ ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมล็ดองุ่นมีการลดลงของน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว และสัดส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก สูงกว่ากลุ่มยาหลอก (P = 0.045, 0.033, 0.029 และ 0.021 ตามลำดับ) และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมล็ดองุ่นมีระดับฮอร์โมน neuropeptide Y ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกหิว tumor necrosis factor alpha ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบของร่างกาย และ high sensitivity C-reactive protein ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ต่ำกว่ากลุ่มยาหลอก (P = 0.041, 0.001 และ 0.034 ตามลำดับ จากผลการทดสอบครั้งนี้สรุปได้ว่าการได้รับสารสกัดเมล็ดองุ่นร่วมกับการรับประทานอาหารแบบจำกัดพลังงานมีผลในการช่วยลดสัดส่วนของร่างกาย และลดดัชนีชี้วัดกระบวนการอักเสบในผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Phytotherapy Research. 2020;34:379-87.