ฤทธิ์ต้านภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบและบรรเทาความผิดปกติในระบบประสาทของสารไลโคพีน

การทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบและบรรเทาความผิดปกติในระบบประสาทของสารไลโคพีนซึ่งเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่พบได้มากในมะเขือเทศและฟักข้าว ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวด้วยสาร dextran sulfate sodium (DSS) ความเข้มข้น 2.5%w/v โดยหนูจะได้รับอาหารที่ผสมสารไลโคพีนขนาดวันละ 50 มก./นน.ตัว 1 กก. เป็นเวลานาน 40 วัน พบว่า สารไลโคพีนสามารถปกป้องเซลล์เยื่อผนังลำไส้ (gut barrier) และยับยั้งการอักเสบบริเวณลำไส้ใหญ่ รวมทั้งทำให้อาการซึมเศร้า (depression) และพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงอาการวิตกกังวล (anxiety-like behavioral disorder) ลดลง โดยมีผลยับยั้งการอักเสบในระบบประสาท (neuroinflammation) และเพิ่มการแสดงออกของ neurotrophic factor และ postsynaptic-density protein ในสมอง นอกจากนี้สารไลโคพีนยังช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (microbiome) โดยทำให้แบคทีเรียชนิดโพรทีโอแบคทีเรีย (proteobacteria) มีจำนวนลดลง (แบคทีเรียชนิดโพรทีโอแบคทีเรียหากมีจำนวนมากเกินไปจะทำให้เกิดความผิดปกติในลำไส้ใหญ่) และทำให้แบคทีเรียชนิด Bifidobacterium และ Lactobacillus ที่ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการสร้าง short-chain fatty acid เพิ่มขึ้นและทำให้การอักเสบในลำไส้ใหญ่ลดลง จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารไลโคพีนมีประสิทธิภาพในการต้านภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบและช่วยบรรเทาความผิดปกติในระบบประสาทจากการเหนี่ยวนำด้วย DSS ได้

J Agric Food Chem. 2020;68:3963-75