ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งของสารสกัดจากเห็ดขอนขาวและเห็ดฟาง

เมื่อนำส่วนของดอก (fruiting body) เห็ดขอนขาว (Lentinus squarrosulus) และเห็ดฟาง (Volvariella volvacea) มาสกัดด้วยน้ำร้อนแล้วตกตะกอนด้วยเอทานอล จะได้สารสกัดซึ่งประกอบด้วยสารหลัก คือ เบต้า-กลูแคน (β-glucan) และสารฟีนอลิก โดยปริมาณของเบต้า-กลูแคนในสารสกัดจากเห็ดขอนขาวและเห็ดฟาง เท่ากับ 0.34 และ 0.66 มก./มล. ตามลำดับ และปริมาณของสารฟีนอลิกรวมในสารสกัดจากเห็ดขอนขาวและเห็ดฟาง เท่ากับ 8.55 และ 14.56 มก. กรดแกลลิก (GAE)/ก. สารสกัด ตามลำดับ เมื่อนำสารสกัดจากเห็ดทั้ง 2 ชนิด มาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrythydrazyl (DPPH) และ ferric reducing antioxidant power (FRAP) พบว่าสารสกัดจากเห็ดฟางมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารสกัดจากเห็ดขอนขาว นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากเห็ดทั้ง 2 ชนิด เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง เมื่อทดสอบในเซลล์มะเร็งตับ HepG2 โดยสารสกัดจากเห็ดฟางจะมีฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดจากเห็ดขอนขาวเช่นกัน (ค่า IC50 ของสารสกัดจากเห็ดฟางและเห็ดขอนขาว เท่ากับ 0.7 และมากกว่า 1 มก./มล. ตามลำดับ) จากการศึกษานี้จะเห็นว่าสารสกัดจากเห็ดฟางมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งสูงกว่าสารสกัดจากเห็ดขอนขาว และมีปริมาณของสารเบต้า-กลูแคนสูงกว่า 2 เท่า ดังนั้นสารสกัดจากเห็ดฟางอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับการรักษามะเร็งต่อไปในอนาคต

The 44th Congress on Science and Technology of Thailand (STT44), 2018, 29-31 October 2018:119-23.