ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสตรอว์เบอร์รี่

การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดหยาบจากผลสตรอว์เบอร์รี่ด้วยเมทานอลที่ทำให้เป็นกรด (acidified methanol pH 1.0) (Fragaria x ananassa crude extract; CE) และสาร pelargonidin-3-O-glucoside (P3G) ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม anthocyanin ที่พบในผลสตรอว์เบอร์รี่ โดยทำการทดลองทั้งแบบ in vivo ในหนูเม้าส์ และแบบ in vitro ในเซลล์ Raw 264.7 macrophages สำหรับการทดลองในหนูเม้าส์ หนูจะได้รับ CE ขนาด 100-400 มก./กก.), P3G –ขนาด 0.1–10 มก./กก., หรือยาต้านอักเสบ dexamethasone (Dex) ขนาด 0.5 มก./กก. หลังจากนั้น 30 นาที หนูจะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleurisy) โดยการฉีด λ-carrageenan (Cg) ความเข้มข้น 1% (w/v) ขนาด 0.1 มล. เข้าในปอด สำหรับการทดลองในเซลล์ RAW 264.7 จะทำการบ่มเซลล์ร่วมกับ P3G ขนาด 1–128 ไมโครโมลาร์ หรือ Dex ขนาด 7 ไมโครโมลาร์ เป็นเวลา 1 ชม. จากนั้นจึงให้สารก่อการอักเสบ lipopolysaccharide (LPS) ที่ความเข้มข้น 1 มคก./มล. การทดลองแบบ in vivo พบว่า CE และ P3G สามารถยับยั้งการเคลื่อนตัวของเม็ดเลือดขาวเข้าสู่ปอดและลดระดับโปรตีนภายในปอดหนูได้ นอกจากนี้ยังทำให้ตัวชี้วัดการเกิดการอักเสบต่างๆ ได้แก่ myeloperoxidase (MPO), adenosine deaminase (ADA), nitric oxide metabolites (NOx), tumor necrosis factor alpha (TNF-α) และ interleukin 6 (IL-6) ที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับ Cg มีระดับลดลง โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และการทดลองแบบ in vitro พบว่า P3G ที่ขนาด 1–128 ไมโครโมลาร์ ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ และสามารถยับยั้งการสร้างสารก่อการอักเสบชนิด NOx, TNF-α, IL-6 รวมทั้งยับยั้งกระบวนการ phosphorylation ของ IkB-α ใน NF-κB pathway และยับยั้งกระบวนการ phosphorylation ของ mitogen-activated protein kinase (MAPK) โดยเฉพาะ c-Jun N-terminal kinase (JNKMAPK) ซึ่งเกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย LPS ได้ โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สตรอว์เบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ สามารถนำไปพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้บรรเทาอาการอักเสบได้

Food Chem. 2018;247:56–65.