ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนจากเรดโคลเวอร์ (red clover)

สารสำคัญที่พบในต้นอ่อนของเรดโคลเวอร์ (Trifolium pratense Linn.) คือ biochanin A และ formononetin ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม isoflavones ที่สามารถจับกับตัวรับเอสโตรเจน (estrogen receptors; ERs) และแสดงฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉพาะสาร formononetin ซึ่งสามารถจับกับ ERβ ได้ดี ซึ่งสาร isoflavones ของเรดโคลเวอร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของ free aglycones ที่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าสาร isoflavones ที่มาจากถั่วเหลืองที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของ glycosides การทดสอบหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกเรดโคลเวอร์เพื่อให้ต้นอ่อนสามารถผลิตสารสำคัญออกมาได้มากที่สุด โดยให้แสงที่แตกต่างกันคือ แสงสีขาว (white light), UVA (340 nm) หรือ UVB (310 nm) ใช้เวลาที่แตกต่างกันคือ 12 ชม./วัน หรือ 24 ชม./วัน และใช้อุณหภูมิที่แตกต่างกันคือ 18°C หรือ 25°C ทำการทดสอบเป็นเวลานาน 10 วัน พบว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ได้สารสำคัญมากที่สุดเมื่อใช้เวลาปลูกนาน 10 วัน คือ การปลูกภายใต้แสงสีขาว โดยให้ได้รับแสงนาน 24 ชม./วัน ณ อุณหภูมิ 25°C (มีสาร formononetin 562 มก./พืชสด 100 ก.) จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่านอกจากถั่วเหลืองแล้ว ต้นอ่อนของเรดโคลเวอร์ก็เป็นแหล่งของเอสโตรเจนจากพืช (phytoestrogens) ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

Food Chem. 2018;245:324–36.