ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารลิโคชาลโคนเอจากรากชะเอมเทศ

การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสาร Licochalcone A (LCA) ซึ่งแยกได้จากรากชะเอมเทศ (Glycyrrhiza inflata Batalin) โดยทำการศึกษาผลต่อระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระคือ superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), และ glutathione peroxidase (GPx) ในเซลล์ตับชนิด L-02 และเซลล์มะเร็งตับชนิด HepG2 และทำการศึกษาอัตราการรอดชีวิตและการเกิดการตายของเซลล์ในเซลล์มะเร็งตับชนิด HepG2 จากผลการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในเซลล์ HepG2 (cellular antioxidant activity) พบว่าค่าความเข้มข้นของ LCA ที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันได้ 50% คือ 58.79 ± 0.05 มคก./มล.และ 46.29 ± 0.05 มคก./มล. ในสภาวะที่มีและไม่มี phosphate-buffered saline (บัฟเฟอร์สำหรับล้างเซลล์ เพื่อกำจัดสิ่งที่ติดอยู่บนผิวเซลล์) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าที่ขนาด 2 – 8 มคก./มล. สามารถกระตุ้นการแสดงออกของโปรตีน SOD, CAT, และ GPx เมื่อทำการทดสอบในเซลล์ L-02 การศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งพบว่า LCA สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ HepG2 ผ่านกลไกการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบ apoptosis นอกจากนี้ LCA ยังยับยั้งการนำสัญญาณ p38/JNK/ERK ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวของเซลล์ด้วย โดยประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับขนาดที่ให้ จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่า LCA มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งตับได้

J Ethnopharmacol 2017;198:331-7.