ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของหลอดเลือดของน้ำมันรำข้าว

ศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของน้ำมันรำข้าวจากข้าวสายพันธุ์ Njavara ของอินเดีย โดยผสมน้ำมันรำข้าวขนาด 100 มก./กก. ลงในอาหารที่มีไขมันสูง (high fat diet) แล้วป้อนให้กับหนูแรท นานติดต่อกัน 60 วัน เปรียบเทียบกับการกับการป้อนด้วยอาหารที่มีไขมันสูงเพียงอย่างเดียวพบว่า หนูแรทกลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงผสมกับน้ำมันรำข้าวมีค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และ LDL-C ในเลือดลดลง และค่า HDL-C เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงเพียงอย่างเดียว และน้ำมันรำข้าวยังมีผลลดการการแสดงออกของยีนและการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสะสมไขมันได้แก่ 3-hydroxy-3-methylglutaryl-CoA reductase, glucose-6-phosphate dehydrogenase, isocitrate dehydrogenase, acetyl-CoA carboxylasec และ fatty acid synthase และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์และการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการต้านการสะสมไขมัน ได้แก่ paraoxonase 1, lecithin-cholesterol-acyl-transferase, ATP-binding cassette transporter A1, apoA1 และ peroxisome proliferator-activated receptor (PPAR)-alpha นอกจากนี้การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย carrageenan พบว่า การป้อนน้ำมันรำข้าวขนาด 100-200 มก./กก. มีผลลดอาการบวมและการอักเสบของอุ้งเท้าหนู และยับยั้งการแสดงออกของ C-reactive protein ในตับ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการเกิดภาวะการอักเสบอีกด้วย ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าน้ำมันรำข้าวมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของหลอดเลือดได้ โดยควบคุมการแสดงออกของยีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสะสมของไขมัน

Br J Nutr 2015; 113(8): 1207-19