ฤทธิ์ต้านเชื้อทริพาโนโซมาและเชื้อมาลาเรียของโหระพาช้าง

การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อทริพาโนโซมา (Trypanosoma brucei brucei ) เชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum ) รวมทั้งความเป็นพิษต่อเซลล์ของน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบ ลำต้น และเมล็ดของโหระพาช้าง (Ocimum gratissimum Linn) พบว่าน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดเอทานอลมีฤทธิ์ต้านเชื้อทั้งสองชนิด แต่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเลียค่อนข้างต่ำ (IC50 >40 มคก./มล.) โดยสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อทริพาโนโซมาดีที่สุด (IC50 = 1.66 ± 0.48 มคก./มล.) รองลงมาคือสารสกัดเอทานอลจากส่วนเมล็ด (IC50 = 1.29 ± 0.42 มคก./มล.) ทั้งนี้ขึ้นกับระยะการออกดอก การศึกษาทางเคมีพบว่าองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหยคือ p-cymene , thymol, γ-terpinene, β-myrcene, α-thujene และองค์ประกอบย่อยคือ myrcene, citronellal, limonene ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อทริพาโนโซมาที่ดีเช่นกัน การทดสอบความเป็นพิษด้วยไรน้ำเค็ม (Artemia salina ) ไม่พบความเป็นพิษทั้งในน้ำมันหอมระเหยและสารสกัดเอทานอล ส่วนการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ในเซลล์รังไข่ของหนูแฮมสเตอร์ (Chinese Hamster Ovary; CHO) และเซลล์ไฟโบรบลาสของมนุษย์ (human non cancer fibroblast cell line; WI38) พบว่าสารสกัดส่วนใหญ่และน้ำมันหอมระเหยมีความเป็นพิษต่อเซลล์ดังกล่าวต่ำ (IC50 >50 มคก./มล.) แต่สารสกัดเอทานอลจากส่วนใบและเมล็ดค่อนข้างมีความเป็นพิษต่อเซลล์ (IC50 = 18.50 และ 10.25 มคก./มล. สำหรับ CHO ตามลำดับ และ IC50 = 21.40 และ 14.11 มคก./มล. สำหรับ WI38 ตามลำดับ ) ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบและเมล็ดมีฤทธิ์ต้านเชื้อทริพาโนโซมาที่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังออกดอก หมายเหตุ IC50 คือค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ 50%

J Ethnopharmacol 2014;155:1417-23.