ฤทธิ์ต้านภาวะดื้อต่ออินซูลินของกระเจี๊ยบแดง

การศึกษาฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสำคัญจากกระเจี๊ยบแดงพบว่า สารโพลีฟีนอลที่แยกได้จากส่วนกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง (polyphenol extracts of Hibiscus sabdariffa ; HPE) ซึ่งประกอบด้วยสาร gallic acid, galloyl ester, protocatechuic acid, caffeic acid, caffeoyl quinic acid, chlorogenic acid, และอนุพันธ์ของ quercetin มีฤทธิ์ต้านภาวะดื้อต่ออินซูลิน และลดการเกิดความผิดปกติต่อไตจากภาวะเบาหวาน เมื่อทำการทดสอบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน และในเซลล์ท่อไตที่ถูกกระตุ้นด้วยน้ำตาลกลูโคสความเข้มข้นสูง จากการทดสอบพบว่า HPE มีฤทธิ์ยับยั้ง type 4 dipeptidyl peptidase (DPP-4) ด้วยการควบคุม vimentin และ insulin receptor substrate-1 (IRS-1) รวมทั้งส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ epithelial ไปเป็นเซลล์ mesenchymal (epithelial to mesenchymal transition; EMT) บริเวณไตลดลง จึงยับยั้งการเกิดพังผืดที่ไต (renal fibrosis) ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวคล้ายกับการออกฤทธิ์ของยาต้านเบาหวาน linagliptin และการทดสอบในหนูแรทพบว่า HPE ทำให้ phospho IRS-1 (S307) จำนวนมากที่อยู่บริเวณท่อไตและการเพิ่มขึ้นของ vimentin ในไตจากภาวะเบาหวานนั้นลดลง ทำให้สามารถสรุปได้ว่า HPE มีฤทธิ์ต้านเบาหวานและมีฤทธิ์ปกป้องไตจากภาวะเบาหวาน โดยทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลงและมีฤทธิ์ปกป้องไตจากการยับยั้งการเกิด EMT ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเป็นยาลดภาวะแทรกซ้อนที่ไตจากภาวะเบาหวานได้

หมายเหตุ:
- DPP-4 ออกฤทธิ์ทำลายฮอร์โมน glucagon-like peptide-1 (GLP-1) และ glucose-dependent insulinotropic polypeptide (GIP) ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดทำให้ระดับอินซูลินในเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากระดับ DPP-4 สูงขึ้น ฮอร์โมน GLP-1 และGIP จะลดลง ส่งผลให้ระดับอินซูลินในเลือดลดลง และระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น
- Vimentin, S307, EMT เป็นตัวบ่งชี้ความผิดปกติที่ไต

J Agric Food Chem 2014;62:9736-43.