ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร anethole จากโป๊ยกั๊กในภาวะเกิดการบาดเจ็บของปอดเฉียบพลัน

ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร anethole จากโป๊ยกั๊ก (Illicium verum ) โดยทำการทดลองในหนูเม้าส์ เพศผู้สายพันธุ์ BALB/C 8 กลุ่ม (กลุ่มละ 7 - 10 ตัว) กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารและน้ำปกติ โดยไม่มีการให้สารใดๆ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ฉีดสาร anethole ขนาด 250 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง กลุ่มที่ 3 - 7 ฉีดน้ำเกลือ และสาร anethole เข้าทางช่องท้อง ขนาด 62.5, 125, 250, และ 500 มก./กก. ตามลำดับ กลุ่มที่ 8 ฉีดยาแก้อักเสบ dexathethasone (DEX) ขนาด 1 มก./กก. หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง นำหนูกลุ่มที่ 3 - 8 มาเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะปอดเสียหายเฉียบพลันด้วยการให้ lipopolysaccharide จาก E. coli (LPS) เข้าทางท่อหลอดลม (intratracheal) ทำการเก็บตัวอย่างเสมหะเพื่อตรวจวิเคราะห์จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีน และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและเสียหายของปอด และเมื่อครบ 4 ชั่วโมง ทำการชำแหละซากหนูและเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้วยเทคนิคทางจุลกายวิภาคศาสตร์ และวิเคราะห์การแสดงออกของโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบด้วยเทคนิค western blot analysis ผลจากการทดลองพบว่า การฉีดสาร anethole มีผลช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปอด การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเสมหะพบว่า การฉีดสาร anethole ขนาด 250 มก. / กก. มีผลลดความเข้มข้นของโปรตีน จำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil และ macrophage และลดการทำงานของเอนไซม์ lactate dehydrogenase ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการถูกทำลายของเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ยังพบว่า การฉีดสาร anethole มีผลลดการทำงานและการแสดงออกของเอนไซม์ matrix metalloproteinase-9 ลดการแสดงออกของโปรตีน tumor necrosis factor-α, Interleukin-6 และ nitric oxide ซึ่งเป็นโปรตีนที่บ่งชี้ถึงการเกิดกระบวนการอักเสบ และจากการวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดพบว่า การฉีดสาร anethole ขนาด 250 มก./กก. มีผลยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน nuclear factor kappa - B (NF - ҡB) และเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน I - kappa - B - α (IҡB - α) อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS เพียงอย่างเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาร anethole จากโป๊ยกั๊กมีกลไกต้านการอักเสบคือ ลดการทำลาย โปรตีน IҡB - α ซึ่งทำหน้าที่จับและยับยั้งการทำงานของ NF-ҡB ที่เป็นตัวกระตุ้นการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สาร anethole จากโป๊ยกั๊กมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปอดจากการถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS ได้

Life Sci. 2013; 93(24): 955-61