ฤทธิ์ต้านมะเร็งของสาร 2-Hydroxycinnamaldehyde ในอบเชยจีนผ่านกระบวนการยับยั้ง β-Catenin

การศึกษาฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวและฤทธิ์ต้านมะเร็งของสาร 2- Hydroxycinnamaldehyde ซึ่งเป็นสาร phenylpropanoid ที่แยกได้จากเปลือกลำต้นอบเชยจีน โดยทำการทดสอบในเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พบว่าสาร 2- Hydroxycinnamaldehyde มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ HCT116 โดยลดการทำงานของการส่งสัญญาณของ Wnt/β-catenin และยับยั้ง β-catenin/T-cell factor (TCF) ใน HEK 233 และ HCT116 cells (โดยปกติเมื่อมีการกระตุ้นโปรตีน Wnt ทำให้ β-catenin เคลื่อนย้ายและจับกับ transcription factor พวก T cell factor จะไปกระตุ้นการสร้างยีนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงลักษณะของเซลล์ที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของมะเร็ง) ผลจากการยับยั้ง β-catenin/T-cell factor (TCF) ทำให้ลดการสร้างยีนส์ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของมะเร็งเช่น c-myc และ cyclin D1 และจากการศึกษาในแบบจำลองการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ (xenograft model) โดยการให้สารจากอบเชยจีนความเข้มข้น 10 หรือ 20 ม.ก./ก.ก.น้ำหนักตัว ฉีดเข้าช่องท้องหนูเปลือย (nude mice) ที่ถูกปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเซลล์มะเร็ง HCT116 จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและไม่พบการเกิดความเป็นพิษ และจากกการศึกษาสารชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งพบว่า สารจากอบเชยจีนมีฤทธิ์ยับยั้งยีนส์เป้าหมายของ Wnt ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมะเร็งได้แก่ β-catenin, c-myc, cyclinD1 และ survivin จึงสรุปได้ว่าการยับยั้งสัญญาณของ Wnt/β-catenin เป็นกระบวนการสำคัญต่อการยับยั้งการแบ่งเซลล์และยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักของมนุษย์

Journal of Natural Products 2013;76: 1278-1284