ฤทธิ์คุมกำเนิดของสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปา

ศึกษาฤทธิ์คุมกำเนิดของสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์จากใบจำปา (hydroalcoholic leaves extract of Michelia champaca ) โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก โดยทดลองป้อนสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาขนาดวันละ 100 และ 200 มก./กก. นาน 7 วัน ให้แก่หนูแรทเพศเมียที่ผ่านการเข้าคู่ผสมพันธุ์กับตัวผู้ไม่เกินหนึ่งวันเมื่อเลี้ยงครบ 10 วัน ทำการผ่าตัดเพื่อตรวจการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก การศึกษาส่วนที่สอง เป็นการทดสอบฤทธิ์การเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยทดลองในหนูแรทเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ 6 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 ที่เป็นกลุ่มควบคุม ได้รับสารละลาย 5%Tween-80 กลุ่มที่ 2 ได้รับ 17α-ethinyl estradio lโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังเพียงอย่างเดียว เปรียบเทียบกับ กลุ่มที่ 3 และ 4 ที่ได้รับสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาโดยการป้อนให้ขนาดวันละ 100 และ 200 มก./กก.และกลุ่มที่ 5 และ 6 ได้รับสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาร่วมกับการฉีด 17α-ethinyl estradiol (ขนาดวันละ 1 มคล.) ทำการเลี้ยงต่อเนื่องนาน 7 วัน ในวันที่ 8 ของการทดลองทำการชั่งน้ำหนักและเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมี (biochemical parameters) จากนั้น ทำการฆ่าและเก็บอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ผลจากการทดลองพบว่าการป้อนสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปาทั้งขนาดวันละ 100 และ 200 มก./กก. มีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูกของหนูแรทอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมโดยคิดเป็นร้อยละ 49.95 และ 71.03 ตามลำดับ และพบว่าการป้อนสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปา มีผลเพิ่มน้ำหนักตัวของหนูแรท น้ำหนักมดลูก ความหนาของเยื่อบุมดลูกและช่องคลอด อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่าระดับ เอสโตรเจน คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ alkaline phosphatase ในเลือดหนูที่ถูกป้อนด้วยสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์ใบจำปามีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำ-แอลกอฮอล์จากใบจำปามีฤทธิ์คุมกำเนิด โดยอาจมีผลจากการยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก และมีฤทธิ์การเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน

J Ethnopharmacol.2013;147(3):671-5