ฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนและฤทธิ์ปกป้องสมองของสารสกัดจากรากหญ้าแห้วหมู

การทดสอบฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนของสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์จากรากหญ้าแห้วหมู (Cyperus rotundus  L.) (CRE) ในเซลล์ PC12 (dopaminergic cell line) ที่ทำให้มีระดับเอสโตรเจนต่ำ โดยให้ได้รับ CRE ในขนาด 62.5 - 500 มคก./มล. เป็นเวลา 24 ชม. พบว่า CRE มีฤทธิ์ของเอสโตรเจน โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ และการทดสอบฤทธิ์ปกป้องสมองของ CRE ในหนูแรทเพศเมียที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วยการตัดรังไข่ออก และฉีดด้วย 1-methyl-4-phenyl-1,2,3,6-tetrahydropyridine (MPTP) เข้าทางช่องท้องเพื่อทำให้ระดับของโดปามีน (dopamine) ในสมองลดลง โดยการฉีด CRE เข้าทางช่องท้องในขนาด 50 มก./กก./วัน เปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับ estradiol benzoate (EB) ขนาด 50 มคก./กก./วัน พบว่าทั้ง CRE และ EB สามารถทำให้ระดับของโดปามีนในสมอง (striatal dopamine), ความสามารถในการเคลื่อนไหว (movement ability), tyrosine hydroxylase (TH) immunoreactivity และระดับของ apoptosis-related protein expression ซึ่งผิดปกติจากการเหนี่ยวนำข้างต้น กลับสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้ยังพบว่า MPTP จะลดการแสดงออกของโปรตีน Bcl-2 ภายใน mitochondria ของเซลล์ที่ผลิตสารโดปามีน (dopaminergic neurons) ในสมองส่วน substantia nigra และเพิ่มการแสดงออกของโปรตีน Bax, caspase-3 และ cytochromeC translocation ซึ่งส่งผลให้เซลล์ถูกทำลาย ในขณะที่ CRE และ EB สามารถยับยั้งการเหนี่ยวนำดังกล่าว ทำให้สามารถสรุปได้ว่า สารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์จากรากหญ้าแห้วหมูมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนและมีฤทธิ์ปกป้องสมอง (dopaminergic neurons) จากภาวะขาดเอสโตรเจนและจากการถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพิษที่สมองด้วยสาร MPTP

J Ethnopharmacol 2013;148:322-8