ฤทธิ์ขับปัสสาวะของสารจากกระเจี๊ยบแดงด้วยกลไกที่เกี่ยวข้องกับ aldosterone

การศึกษาฤทธิ์ขับปัสสาวะของสารสกัดน้ำ และสารสกัดจากตัวทำละลายต่างๆ ของกระเจี๊ยบแดง (Hibiscus sabdariffa  Linn.) ในหนูแรทที่ถูกตัดต่อมหมวกไต (adrenalectomized rats) โดยทดสอบกับ deoxycorticosterone acetate (aldosterone analog) รวมถึงศึกษาผลต่อการกรองของไต และศึกษาผลต่อการแสดงออกของยีน αENaC จากเซลล์บริเวณเยื่อบุผิวของไต (renal epithelial cell) ซึ่งยีนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการขับโซเดียมออกมากับปัสสาวะ พบว่าฤทธิ์ขับปัสสาวะซึ่งเป็นผลมาจากการที่หนูแรทถูกตัดต่อมหมวกไต (ส่งผลให้เกิดการขาด aldosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเก็บกลับโซเดียมเข้าสู่กระแสเลือด) จะถูกยับยั้งด้วยการที่หนูได้รับสาร deoxycorticosterone acetate โดยที่ฤทธิ์ของ deoxycorticosterone acetate สามารถถูกยับยั้งด้วยการที่หนูได้รับสาร spironolactone (เป็นยาขับปัสสาวะชนิดหนึ่งซึ่งมีกลไกในการเพิ่มการขับโซเดียมออกจากร่างกายโดยแลกเปลี่ยนกับการเก็บกลับโปแทสเซียม) ซึ่งสารสกัดน้ำและส่วนผสมระหว่างสารสกัด acetonitrile:methanol (5:5) ที่ป้อนให้หนูกินในขนาด 1000 มก./กก./วัน เป็นเวลา 10 วัน ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน การศึกษาในระดับยีนพบว่า spironolactone สารสกัดน้ำ ส่วนผสมระหว่างสารสกัด acetonitrile:methanol (5:5) และสารสกัด acetonitrile ลดการแสดงออกของ αENaC ส่งผลให้การขับโซเดียมออกนอกร่างกายเพิ่มขึ้น จากผลการทดลองดังกล่าวทำให้สามารถสรุปได้ว่า กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เพิ่มการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะ และเพิ่มการเก็บกลับโปแทสเซียม ด้วยกลไกยับยั้งการออกฤทธิ์ต่อ aldosterone ซึ่งคาดว่าสารออกฤทธิ์น่าจะเป็นสารในกลุ่ม anthocyanins, flavonoids และ chlorogenic

Planta Med 2012;78:1893-8