สารสำคัญจากบอระเพ็ดกับภาวะเบาหวานในหนูเม้าส์

การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสาร borapetoside C ซึ่งแยกได้จากบอระเพ็ด โดยการฉีดสารดังกล่าวขนาด 5 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ปกติที่ได้รับน้ำตาลกลูโคส 2 ก./กก. หนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (T1DM) และหนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (T2DM) เปรียบเทียบผลกับการฉีดอินซูลิน 0.5 IU/กก. พบว่าสาร borapetoside C สามารถเพิ่มระดับของไกโคเจนในกล้ามเนื้อลายของหนูกลุ่ม T2DM ได้ดี แต่เพิ่มได้น้อยในหนูกลุ่ม T1DM และเมื่อทดสอบฉีดสาร borapetoside C ในขนาดต่ำ (0.1 มก./กก.) เข้าทางช่องท้องร่วมกับการให้อินซูลิน พบว่าสารดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอินซูลินในการลดระดับกลูโคสในเลือด รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับของไกโคเจนในกล้ามเนื้อด้วย และการให้สาร borapetoside C วันละ 2 ครั้งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน พบว่ากระบวนการ phosphorylation ของ insulin receptor (IR), protein kinase B (Akt) รวมทั้งการแสดงออกของ glucose transporter-2 (GLUT2) ในหนูกลุ่ม T1DM เพิ่มขึ้น และการให้สาร borapetoside C ในขนาดต่ำ (0.1 มก./กก.) วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการให้อินซูลินเป็นเวลา 7 วัน ก็พบว่าทำให้ประสิทธิภาพของอินซูลินในการเหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการ phosphorylation ของ IR, Akt รวมทั้งการแสดงออกของ GLUT2 ในตับของหนูกลุ่ม T1DM เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาร borapetoside C สามารถเพิ่มการใช้น้ำตาลกลูโคสของร่างกาย ชะลอภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเพิ่มความไวของอินซูลินได้ ซึ่งคาดว่ากลไกในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสาร borapetoside C ในหนูที่เป็นเบาหวาน น่าจะมาจากการเพิ่มการแสดงออกของ IR-Akt-GLUT2 และการเพิ่มความไวของอินซูลินนั่นเอง

Phytomedicine 2012;19(8-9):719-24