ฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งของมะขามป้อม

การศึกษาฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งของสารฟีนอลิกจากผลมะขามป้อม ได้แก่ สาร geraniin, quercetin 3-β-D-glucopyranoside, kaempferol 3-β-D-glucopyranoside, isocorilagin, quercetin และ kaempferol โดยทดสอบด้วยวิธีการวัดการเพิ่มจำนวนของเซลล์ม้าม (splenocyte) ของหนู เซลล์ human breast cancer (MCF-7) และเซลล์ human embryonic lung fibroblast (HELF) พบว่าสารฟีนอลิกจากมะขามป้อม มีผลเพิ่มจำนวนของเซลล์ม้ามตามความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสาร geraniin และ isocorilagin จะมีฤทธิ์ดีที่สุด โดยมีค่าความเข้มข้นที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 50% คือ 56 และ 42 มคก./มล. ตามลำดับ สำหรับฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง พบว่า geraniin มีฤทธิ์แรงที่สุดในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ MCF-7 โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ได้ 50% (IC50) เท่ากับ 13.2 มคก./มล. ส่วนสาร isocorilagin มีฤทธิ์แรงที่สุดในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ HELF (IC50) เท่ากับ 51.4 มคก./มล.) ขณะที่ยา paclitaxel ซึ่งใช้รักษามะเร็ง มีค่า IC50) ต่อเซลล์ MCF-7 และ HELF เท่ากับ 6.8 และ 14.5 มคก./มล. ตามลำดับ สรุปได้ว่าสาร ฟีนอลิกจากมะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ โดยอาจเป็นผลมาจากฤทธิ์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันของสาร

Food Chemistry 2012;131:685-90.