ฤทธิ์ต้านกระดูกพรุนจากเมล็ดของพืชฝอยทอง

ในประเทศจีนและบางประเทศทางแถบเอเชียมีการใช้เมล็ดของพืชฝอยทอง (Cuscuta chinensis  ) ซึ่งเป็นพืชประเภทกาฝาก ในการรักษาโรคกระดูกพรุน การวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าสารประกอบที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลเป็นสารในกลุ่ม flavonoids, quercetin, kaempferol, isorhamnetin, hyperoside และ astragalin จากการทดสอบฤทธิ์พบว่าสาร kaempferol และ hyperoside สามารถเพิ่มฤทธิ์ของ alkaline phosphatase (ALP) ในเซลล์ osteoblast-like UMR-106 โดยที่ ALP เป็นตัวบ่งชี้ในการเพิ่มการสร้างเซลล์กระดูกของเซลล์ตั้งต้น (osteoblastic differentiation) และสาร astragalin ยังกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ UMR-106 ด้วย ส่วนสารอื่นๆ ไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าสารที่แยกได้มีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยสาร quercetin, kaempferol และ isorhamnetin ออกฤทธิ์กระตุ้น ERβ (estrogen receptor agonist) แต่เมื่อเปรียบเทียบกันในแง่ของการกระตุ้น ER จะมีเพียงสาร quercetin และ kaempferol ที่ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งตัวรับ estrogen ชนิด ERα/β โดยที่กลไกดังกล่าวคาดว่าจะเทียบเคียงกับยา raloxifene ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม selective estrogen receptor modulators (SERMs) ที่ออกฤทธิ์กระตุ้น ER ที่บริเวณกระดูก ไขมัน หัวใจและหลอดเลือด แต่ออกฤทธิ์ยับยั้ง ER ที่บริเวณเต้านมและมดลูก นอกจากนี้สารทั้งสองตัวยังกระตุ้นการแสดงออกของ ERα/β-mediated AP-1 reporter (activator protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก เช่นเดียวกับยา raloxifene ด้วย จากการทดลองทั้งหมดทำให้สามารถสรุปได้ว่าเมล็ดของพืชฝอยทองมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคกระดูกพรุน และสารสำคัญที่มีฤทธิ์ในการสร้างเซลล์กระดูกคือ kaempferol และ hyperoside

J Ethnopharmacol 2011;135:553 - 60