ยี่หร่ากับการต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

สารสกัดด้วยเอทานอลจากเมล็ดยี่หร่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการเกิด 2, 2-Diphynyl-1-picryhydrazyl (DPPH) และ Superoxide ได้ 50% (IC50) เท่ากับ 230 และ 1,120 µg/ml ตามลำดับ และเมื่อทดสอบในหลอดทดลองที่ใส่ซีรัมโปรตีนจากวัว (bovine serum albumin) กับน้ำตาล พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดยี่หร่าสามารถยับยั้งการเกิดสารที่จับกับน้ำตาลเมื่อน้ำตาลในเส้นเลือดมีปริมาณสูงขึ้น (Advanced Glycated End products; AGEs) และเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่าความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg หรือ glibenclamide (ยามาตรฐานลดน้ำตาลในเลือด) 10 mg/kg แก่หนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย Streptozocin เป็นเวลา 28 วัน พบว่ามีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด ปริมาณน้ำตาลที่จับอยู่กับฮีโมโกลบินในเลือด (GHb) Creatinine และ ยูเรียไนโตรเจนในเลือด (blood urea nitrogen; BUN) รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับอินซูลินในซีรั่ม และ glycogen ในตับและกล้ามเนื้อโครงร่างเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน หนูที่ได้รับสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่าสามารถลดอนุมูลอิสระและลดการสร้าง AGEs ที่ไตอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยเพิ่มระดับ collagen และลดการเกิด collagen glycation ที่เอ็นหางหนู เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่เป็นเบาหวาน และหนูที่ได้รับยา glibenclamide นอกจากนี้พบว่าการป้อนสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่า และยา glibenclamide ช่วยส่งเสริมการต้านอนุมูลอิสระที่ไต และตับอ่อนของหนูที่เป็นเบาหวาน แม้ว่าสารสกัดเอทานอลจากยี่หร่า และยา glibenclamide มีฤทธิ์ต้านเบาหวานใกล้เคียงกัน แต่สารสกัดเอทานอลจากยี่หร่าให้ผลในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการสร้าง AGEs ได้ดีกว่ายา glibenclamide ซึ่งปริมาณอนุมูลอิสระและสาร AGEs สัมพันธ์กับพยาธิกำเนิดของภาวะโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดเล็กในคนที่เป็นเบาหวาน

Food Chem Toxicol 2010;48:2030-36