การบริโภคผลไม้ไทยมีผลเพิ่มปริมาณสารเมลาโตนิน (melatonin)

สารเมลาโตนินเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ และเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาดูปริมาณของสารเมลาโตนินก่อนและหลังการทดลอง โดยทำการศึกษาแบบ crossover ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีเป็นชาย 15 คน และหญิง 15 คน อายุระหว่าง 18 - 25 ปี อาสาสมัครทุกคนต้องรับประทานผลไม้ทั้ง 6 ชนิดที่มีสารเมลาโตนินค่อนข้างสูง (กล้วย สับปะรด ส้ม มะละกอ มะเม่า และมะม่วง) โดยรับประทานทีละชนิดในรูปของผลไม้สด หรือน้ำผลไม้ ขนาด 0.5 - 1 กก. ครั้งเดียว และมีช่วงพัก 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะรับประทานผลไม้ชนิดต่อไป ทำการเก็บรวบรวมปัสสาวะตลอดคืนก่อนและหลังการศึกษาในผลไม้แต่ละชนิด และตรวจวัดระดับ 6-sulfatoxymelatonin (aMT6-s) ซึ่งเป็นสารเมตาบอไลท์ของสารเมลาโตนินซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างมากกับระดับเมลาโตนินในเลือด พบว่าการบริโภคผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มะเม่า และมะละกอ มีผลเพิ่มปริมาณสาร aMT6-s ในปัสสาวะ 178%, 127% และ 52% ตามลำดับ ส่วนกล้วยเพิ่มปริมาณสาร aMT6-s เพียง 34% ในขณะที่การบริโภคส้ม และสับปะรดลดปริมาณสาร aMT6-s 4% และ 10% ตามลำดับ จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการบริโภค มะม่วง มะเม่า และมะละกอ ในรูปของผลไม้สด หรือน้ำผลไม้ มีผลเพิ่มปริมาณเมลาโตนินในร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้มีสุขภาพดีและส่งเสริมผลการรักษาโรคต่างๆ ได้

International Conference "hai-Fruits-Functional Fruits" THAIFEX World of Food Asia 2010,July 1-2 2010,Bangkok,Thailand