ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และปกป้องตับของสารสกัดน้ำนมราชสีห์เล็ก

การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสารคาราจีแนน และสำลีก้อนเล็กที่ฝังไว้ที่ขาหนีบของหนูแรท โดยการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสารคาราจีแนนนั้นแบ่งหนูแรทออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 5 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ป้อนน้ำกลั่นอย่างเดียว กลุ่มที่ 2 ป้อนยาแผนปัจจุบันต้านการอักเสบ (ibuprofen) 50 มก./กก. กลุ่มที่ 3 - 5 ป้อนสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. ตามลำดับ หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดสารคาราจีแนน 0.1 มล. (1% น้ำหนัก/ปริมาตร ใน normal saline) เข้าชั้นใต้ผิวหนังที่อุ้งเท้าซ้ายของหนูแรทเพื่อให้เกิดการอักเสบในทุกกลุ่ม วัดการบวมที่อุ้งเท้าหนูชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 ส่วนกลุ่มที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยก้อนสำลีขนาดเล็กน้ำหนัก 30 มก. ฝังเข้าที่ขาหนีบของหนูแรท แบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 5 ตัว เช่นเดียวกับกลุ่มที่เหนี่ยวนำด้วยสารคาราจีแนน ให้สารสกัดนาน 7 พบว่าฤทธิ์ต้านการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนนของสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. ในชั่วโมงแรก มีค่าเท่ากับ 29.14%, 29.43% และ 45.71% ตามลำดับ และเพิ่มสูงขึ้นในชั่วโมงที่ 2 และ 3 ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน ibuprofen มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเท่ากับ 59.71%, 67.57% และ 68.52% ในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ส่วนฤทธิ์ต้านการอักเสบจากการเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยสำลีที่ฝังไว้ที่ขาหนีบของหนูพบว่า สารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กขนาด 50, 100 และ 200 มก./กก. สามารถต้านการอักเสบได้ 32.1%, 40.8% และ 45.4% ตามลำดับ ในขณะที่ยาแผนปัจจุบัน ibuprofen มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเท่ากับ 60.3%

การศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับที่เหนี่ยวนำให้เกิดพิษที่ตับด้วยสารคาร์บอนเตดตระคลอไรด์ (CCl4) โดยแบ่งหนูแรทออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 5 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนสาร 1% โพลีเอทิลีนไกลคอล (PEG) ขนาด 2 มล./กก. กลุ่มที่ 2 ป้อน CCl4 : PEG อัตราส่วน 1:1 ขนาด 0.5 มล./กก. กลุ่มที่ 3 ป้อนยาแผนปัจจุบันที่มีฤทธิ์ปกป้องตับ (silymarin) 50 มก./กก. ใน 1% PEG ครั้งเดียว กลุ่มที่ 4 ป้อนสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็กขนาด 100 มก./กก./วัน นาน 7 วัน ซึ่งในวันที่ 5 ของการทดลองให้ป้อนสาร CCl4 ทุกกลุ่มยกเว้นกลุ่มควบคุม พบว่าสามารถลดระดับเอนไซม์ในเลือดของตับ alanine amino tranferase (ALT), aspartate aminotranferase (AST) และ lipid peroxidation (LPO) ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสาร CCl4 เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ดีเท่ากับยาแผนปัจจุบัน (silymarin) จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดเอทานอลของน้ำนมราชสีห์เล็ก สามารถใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาการอักเสบ และรักษาอาการตัวเหลืองเนื่องจากมีความผิดปกติที่ตับได้

Pharmacologyonline 2009;1:986-994