การบริโภคถั่วเหลืองลดภาวะเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรังและอาการทางระบบหายใจ

การศึกษาแบบ case control study ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COPD:Chronic Obstructive Pulmonary Disease) มานาน 4 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น 6 แห่ง จำนวน 278 คน เป็นผู้ชาย 244 คน ผู้หญิง 34 คน อายุเฉลี่ย 66.3 ปี ส่วนกลุ่มควบคุมเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกับกลุ่มผู้ป่วยจำนวน 340 คน เป็นผู้ชาย 272 คน ผู้หญิง 68 คน อายุเฉลี่ย 65.6 ปี ให้ทุกคนตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และการบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง (เต้าหู้ ถั่งงอก ถั่วเน่า น้ำเต้าหู้ เป็นต้น) ทุกคนต้องตรวจประสิทธิภาพการทำงานของปอดด้วยเครื่อง spirometer จากแบบสอบถามพบว่าในกลุ่มผู้ป่วย COPD มีผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่อยู่ในเพศชาย และหญิง เท่ากับ 21.8 และ 27.3% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มควบคุม (ผู้ที่ไม่เป็น COPD) ที่ยังคงสูบบุหรี่ในเพศชาย และหญิง เท่ากับ 23.2 และ 2.9% ตามลำดับ การบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองในกลุ่มผู้ป่วย COPD และกลุ่มควบคุม เท่ากับ 44.84 ± 28.50 และ 59.98 ± 50.23 กรัม/วัน ตามลำดับ และการบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองมากกว่าหรือเท่ากับ 75.83 กรัม/วัน สามารถลดภาวะเสี่ยงของโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง โดยที่ค่า odd ratios (OR = 0.392) นอกจากนี้ยังพบว่าความถี่ในการบริโภคถั่วเหลืองมีผลลดภาวะเสี่ยงของโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรังเช่นกัน และประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้นเมื่อบริโภคถั่วเหลือง จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการบริโภคถั่วเหลืองในปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 75.83 กรัม/วัน มีความสัมพันธ์ในการลดภาวะเสี่ยงของโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง และลดภาวะการหายใจลำบากช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดดีขึ้น

Respiratory Reasearch 2009;10:56.