สารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดยับยั้งความเป็นพิษต่อตับจากแอลกอฮอล์

การศึกษาผลของสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดในหนูขาวเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยแอลกอฮอล์ให้เกิดความเป็นพิษต่อตับโดยมีการสะสมไขมันและ fibrous ที่ตับ (โดยดูจากการสะสมของคอลลาเจน)แบ่งกลุ่มทดลองเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่1 (กลุ่มควบคุม) ได้รับสารละลายกลูโคส 40% ในปริมาณที่ให้พลังงานเท่าเอทานอลร่วมกับอาหาร 2 ครั้ง / วัน เป็นเวลา 30 วัน, กลุ่มที่ 2 ป้อนเอทานอลขนาด 6 กรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งป้อนวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 กรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 30 วัน, กลุ่มที่3 และ 4 ป้อนเอทานอลขนาด 6 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน เป็นเวลา 30 วัน เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ หลังจากนั้น กลุ่มที่3 ป้อนเอทานอลร่วมกับสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดขนาด 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน โดยแบ่งป้อนวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 100 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 30 วัน, กลุ่มที่4 ป้อนเอทานอลร่วมกับสาร Silymarin ขนาด 100 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งป้อนวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 50 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

จากการเปรียบเทียบในกลุ่มที่1 และ 2 พบว่าเอทานอลเพิ่มระดับไขมันในเลือดและตับ, เพิ่มปริมาณและเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของคอลลาเจนในตับ การป้อนสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดกลุ่มที่3 ทำให้หนูขาวมีระดับไขมันในเลือดและตับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณคอลลาเจนในตับ, ลดปริมาณอัลดีไฮด์และการเกิดปฏิกิริยาเปอร์ออกซิเดชั่น เมื่อเปรียบเทียบผลของกลุ่มที่3กับกลุ่มที่4 ที่ป้อนสาร Silymarin พบว่า กลุ่มที่3 ที่ป้อนสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดให้ผลดีทั้งเรื่องระดับไขมันในเลือดและตับ,ปริมาณและคุณภาพของคอลลาเจนในตับซึ่งเกิดจากพิษแอลกอฮอล์ใกล้เคียงกับกลุ่มที่4 จากผลการศึกษาจึงสันนิษฐานได้ว่าสารสกัดโพลีฟีนอลจากเมล็ดลูกซัดมีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อตับ

Cell Bio Toxicol (2007) 23:373-383