ฤทธิ์ต้านมะเร็งของโป๊ยกั๊ก

ศึกษาผลต้านมะเร็งของสารสกัด 50% เอทานอลจากโป๊ยกั๊กในหนูขาว โดยแบ่งหนูเป็น4 กลุ่ม หนูทุกตัวจะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งที่ตับด้วยการฉีด N -nitrosodiethylamine ขนาด 200 มก./กก. เข้าทางช่องท้องหนูในสัปดาห์ที่ 4 และให้ Phenobarbital ขนาด 0.05% ในน้ำดื่ม ช่วง 6-20 สัปดาห์ของการทดลอง กลุ่มที่ 1, 2 และ 3 จะป้อนสารสกัด ขนาด 10 มก./กก. ในช่วงสัปดาห์ที่ 0-20, 0-4 และ 6-20 ของการทดลองตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มควบคุมจะไม่ได้รับสารสกัด พบว่าน้ำหนักตับของหนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กในช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะลดลง ส่วนน้ำหนักตัวของหนูในทุกกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม หนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะมีการเกิดและเพิ่มจำนวนของเนื้องอกลดลง แต่ไม่มีผลในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดช่วงสัปดาห์ที่ 0-4 นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 จะมีขนาดและปริมาตรของก้อนเนื้อลดลงด้วย ขณะที่อีก 2 กลุ่มไม่มีผล

หนูในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กในช่วงสัปดาห์ที่ 0-20 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะมีการเกิด lipid peroxidation ในตับและเม็ดเลือดแดงลดลง แต่ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดช่วงสัปดาห์ที่ 0-4 จะทำให้ lipid peroxidation ในตับเพิ่มขึ้น สำหรับผลต่อเอนไซม์พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดทุกกลุ่มจะมีระดับของเอนไซม์ superoxide dismutase ในตับและเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ระดับเอนไซม์ catalase ในตับของทุกกลุ่มที่ได้รับสารสกัด และระดับของ catalase ในเม็ดเลือดแดงของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโป๊ยกั๊กช่วงสัปดาห์ที่ 0-4 และสัปดาห์ที่ 6-20 จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดทุกกลุ่ม จะมีผลลดระดับของ glutathione-S-transferase แต่จะเพิ่ม glutathione ในตับและเม็ดลือดแดง สรุปได้ว่าโป๊ยกั๊กมีผลต้านมะเร็งได้ โดยลดการเกิดเนื้องอก ลด oxidative stress และเพิ่มระดับของเอนไซม์ phase II ซึ่งเกี่ยวข้องกับขบวนการต้านอนุมูลอิสระ

Chem Biol Interact 2007;169:207-14