สาร mangiferin ในมะม่วงป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร

การทดสอบความสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสาร mangiferin จากเปลือกต้นมะม่วง โดยการป้อน mangiferin ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. 60 นาที ให้หนูถีบจักรก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอล เปรียบเทียบกับยาที่ออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร N-acetylcysteine พบว่า ไม่พบการทำลายของ mucosa ในกระเพาะอาหารหนู และลดการเกิดแผลได้ 30, 35 และ 63% ตามลำดับ ในหนูที่ได้รับ mangiferin ส่วนหนูที่ได้รับ N-acetylcysteine ลดการเกิดแผลได้ 50% และเมื่อป้อน mangiferin ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. 60 นาที ให้หนูถีบจักรก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารโดยการอดอาหาร 15 ชม. และได้รับ indomethacin เปรียบเทียบกับยาที่ออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร lansoprazole ขนาด 30 มก./กก. พบว่า สาร mangiferin ลดการเกิดแผลได้ 22, 24 และ 57% ตามลำดับ ส่วน lansoprazole ลดการเกิดแผลได้ 76% เมื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์ พบว่าสาร mangiferin ขนาด 30 มก./กก. จะช่วยเพิ่มปริมาณ non-protein sulfhydryl ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร แต่ N-acetylcysteine ออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ซึ่งเป็นผลการต้านอนุมูลอิสระ และการให้ mangiferin ขนาด 30 มก./กก. เข้าทางลำไส้เล็กส่วนต้นในหนูที่ผูกกระเพาะอาหารส่วนปลายของ pylorus เป็นเวลา 4 ชม. พบว่าสาร mangiferin ยังลดปริมาณสารคัดหลั่งทั้งหมดและกรดในกระเพาะอาหาร ในขณะที่ยา cimetidine ขนาด 100 มก./กก. สามารถลดการหลั่งกรดได้เพียงอย่างเดียว

Planta Med 2007;73:1372-6