ผลของสารสกัดแป๊ะก๊วยและน้ำมันกระเทียมต่อความหนืดของเลือดในเพศหญิง-ชาย ที่มีอายุแตกต่างกัน

การศึกษาเพื่อดูความหนืดของเลือดโดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 เป็นการศึกษาในอาสาสมัครชาย 80 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นชาย 40 คน ที่มีอายุในช่วง 18-60 ปี กลุ่มที่ 2 เป็นชาย 40 คน ที่มีอายุระหว่าง 61-75 ปี ซึ่งในเพศหญิงก็แบ่งกุล่ม และช่วงอายุเหมือนเพศชายเช่นกัน พบว่าในการศึกษาช่วงที่ 1 กลุ่มผู้มีอายุน้อยกว่าทั้งเพศชายและหญิง มีความหนืดของเลือดน้อยกว่าในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า (3.79 ± 0.07 และ 4.19 ± 0.3 ในกลุ่มชายอายุน้อย และมาก ตามลำดับ) (3.37 ± 0.3 และ 4.36 ± 0.3 ในกลุ่มหญิงที่มีอายุน้อย และมาก ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบความหนืดของเลือดในเพศชาย-หญิง พบว่าในกลุ่มเพศหญิงอายุน้อย จะมีความหนืดของเลือดน้อยกว่ากลุ่มชายอายุน้อย (3.79 ± 0.07 และ 3.37 ± 0.3 ในเพศชาย-หญิง ที่มีอายุน้อยตามลำดับ) ในขณะที่กลุ่มที่มีอายุมากทั้งเพศชายและหญิงไม่มีความแตกต่างกัน และยังพบความความสัมพันธ์ที่ว่า เมื่ออายุมากขึ้นความหนืดของเลือดจะสูงขึ้น ช่วงที่ 2 ทำการศึกษาในอาสาสมัครเพศชายโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานยาหลอก จำนวน 19 คน กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานสารสกัดแป๊ะก๊วยขนาด 80 มิลลิกรัม/วัน จำนวน 25 คน กลุ่มที่ 3 ให้รับประทานน้ำมันกระเทียมขนาด 250 มิลลิกรัม/วัน จำนวน 16 คน นาน 180 วัน การศึกษาในช่วงที่ 2 พบว่ากลุ่มที่รับประทานสารสกัดแป๊ะก๊วยความหนืดของเลือดลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการทดลอง (4.3 ± 0.5 และ 3.5 ± 0.4 ก่อนและหลังรับประทานสารสกัดแป๊ะก๊วยตามลำดับ) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอก และน้ำมันกระเทียมไม่มีความแตกต่างต่อความหนืดของเลือด ช่วงที่ 3 ศึกษาในอาสาสมัครเพศชาย จำนวน 25 คน ให้รับประทานสารสกัดแป๊ะก๊วย 80 มิลลิกรัม/วัน นาน 180 วัน และมีการเจาะเลือดเพื่อดูความหนืดของเลือดในช่วงเริ่มต้น 30, 90 และ 180 วัน ตามลำดับ การศึกษาในช่วงที่ 3 พบว่าในช่วง 30 วัน หลังการรับประทานสารสกัดแป๊ะก๊วย จะมีการลดความหนืดของเลือดได้ดี (4.25 ± 0.6 และ 3.68 ± 0.4 ในช่วงเริ่มต้น และ 30 วัน ตามลำดับ) และหากเปรียบเทียบในช่วง 30 วัน และ 90 วัน หลังได้รับสารสกัดแป๊ะก๊วย พบว่าความหนืดของเลือดยังคงลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (3.68 ± 0.4 และ 3.58 ± 0.4 ตามลำดับ) แต่หากเปรียบเทียบความหนืดของเลือดในช่วง 90 และ 180 วัน หลังได้รับสารสกัด แป๊ะก๊วย พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ

Phytomedicine 2007;14:447-51