เทียนเยาวพานีหรือผักชีฝรั่งกับฤทธิ์ปกป้องตับในหนูที่เป็นเบาหวาน

ในตำรายาแผนโบราณทั่วโลกโดยเฉพาะตุรกีมีการใช้ใบเทียนเยาวพานีหรือผักชีฝรั่ง (parsley) รักษาโรคเบาหวาน จากการศึกษาทางพฤกษเคมีพบว่าเทียนเยาวพานีมีสารสำคัญคือ flavanoids, ascorbic acid, น้ำมันหอมระเหย, coumarines, phthalides, furanocoumarins และ sesquiterpenes เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในระยะยาวมักเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจรวมทั้งอวัยวะที่สำคัญ ในการศึกษานี้จึงนำสารสกัดใบแห้งด้วยน้ำร้อนของเทียนเยาวพานี (10%) ขนาด 2ก./กก. ป้อนทุกวันให้หนูปกติและหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานโดย streptozotocin เปรียบเทียบกับ glibornuride (อนุพันธ์ของ sulfonyl urea)ขนาด 5 มก./กก. เจาะเลือดวันที่ 0, 14, 42 วัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBG) และค่าทางชีวเคมี ได้แก่ alkaline phosphates (ALP), uric acid, sialic acid, ปริมาณโซเดียม, โปแตสเซียมและศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับโดยวัด glutathione (GSH), lipid peroxidation (LPO) และ non-enzymatic glycosylation (NEG) ผลปรากฎว่าหนูที่เป็นเบาหวานที่ได้รับสารสกัดเยาวพานีสามารถทำให้ FBG และระดับ ALP, uric acid, sialic acid, Na+, K+, NEG ลดลงได้เช่นเดียวกับ glibornuride นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดเยาวพานีสามารถทำให้ระดับ LPO, GSH ลดลงด้วย ซึ่งแตกต่างจาก glibornuride แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเยาวพานีสามารถปกป้องตับจากอนุมูลอิสระในหนูที่เป็นเบาหวานได้

J Ethnopharmacol 104(2006):175-81.