ฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ของสารสกัดจากผลพุดซ้อน

การศึกษาฤทธิ์แก้ปวดของสารสกัดเอทานอลจากผลพุดซ้อน (Gardenia jasminoides) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยกรดอะซิติก (acetic acid-induced writhing test) พบว่าสารสกัดขนาด 75, 100 และ 125 มก./กก. มีผลยับยั้งอาการปวดได้ 25.80, 34.78 และ 48.27% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำเกลือ ขณะที่ยาแอสไพริน ขนาด 10 มก./กก. สามารถยับยั้งได้ 56.95% ในการเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยฟอร์มาลิน (formalin-induced pain test) พบว่าสารสกัดทุกขนาดมีผลยับยั้งอาการปวดได้ ทั้งในระยะแรก (early phase; 0-5 นาที หลังฉีดฟอร์มาลีน) และระยะหลัง (late phase; 15-30 นาที หลังฉีด ฟอร์มาลีน) โดยสารสกัดที่ขนาด 125 มก./กก. มีฤทธิ์ดีที่สุด สามารถยับยั้งอาการปวดได้ 34.26% (early phase) และ 33.57% (late phase) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และการทดสอบโดยเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยวิธี tail-flick test พบว่าสารสกัดขนาด 125 มก./กก. มีฤทธิ์ดีที่สุด สามารถลดอาการปวดได้ 43.08% สำหรับการทดสอบฤทธิ์ลดไข้ในหนูเม้าส์ของสารสกัดขนาด 75, 100 และ 125 มก./กก. โดยเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยเชื้อยีสต์ พบว่าสารสกัดที่ขนาด 125 มก./กก. สามารถลดไข้ได้ดีที่สุด โดยลดได้ 21.46% ภายในชั่วโมงแรก และ 53.62% ในชั่วโมงที่ 3 หลังจากได้รับสารสกัด เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำเกลือ และมีผลลดไข้ได้ใกล้เคียงกับยาพาราเซตามอล ขนาด 10 มก./กก. ซึ่งลดได้ 21.49% และ 59.85% ตามลำดับ

Trop J Nat Prod Res. 2023;7(10):4902-07.