ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของน้ำมันเมล็ดเทียนดำในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

การศึกษาทางคลินิกแบบปกปิดสองทาง มีการสุ่ม และมียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม (double-blind, randomized, placebo-controlled clinical trial) ในผู้ป่วยอายุ 50-70 ปี และเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม (knee osteoarthritis) จำนวน 116 ราย โดยสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 58 ราย กลุ่มที่ 1 ได้รับน้ำมันเมล็ดเทียนดำขนาด 2.5 มล. ทุก ๆ 8 ชม. และกลุ่มที่ 2 ได้รับยาหลอก ทำการศึกษานาน 1 เดือน ประเมินความรุนแรงของอาการอักเสบและอาการปวดด้วยดัชนี WOMAC (Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis Index) และ Visual Analog Scale (VAS) รวมทั้งประเมินปริมาณการใช้ยาบรรเทาปวด (acetaminophen ขนาด 500 มก.) ต่อวัน, ความพึงพอใจต่อการใช้สารทดสอบ, ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count), และระดับ alanine aminotransferase, aspartate aminotransferase, alkaline phosphatase, creatinine และ blood urea nitrogen ในเลือด จากผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำมันเมล็ดเทียนดำและกลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีคะแนนความปวด (VAS scores) ลดลง 33.96 ± 17.04% และ 9.21 ± 0.32% ตามลำดับ (p < 0.001) มีคะแนนความรุนแรงของอาการอักเสบ (WOMAC total scores) ลดลง 27.72 ± 18.61% และ 1.34 ± 2.31% ตามลำดับ (p < 0.001) เมื่อเทียบกับก่อนทำการทดลอง และกลุ่มที่ได้รับน้ำมันเมล็ดเทียนดำมีการใช้ยาบรรเทาปวด (acetaminophen) น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างชัดเจน (p = 0.001) นอกจากนี้การใช้น้ำมันเมล็ดเทียนดำยังไม่มีผลกระทบต่อค่าต่าง ๆ ในเลือด รวมทั้งไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงใด ๆ และผู้ป่วยที่ได้รับน้ำมันเมล็ดเทียนดำมีความพึงพอใจต่อการใช้มากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก (p < 0.001) ทำให้สามารถสรุปได้ว่า การรับประทานน้ำมันเมล็ดเทียนดำในขนาดที่ทำการทดลอง สามารถบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม รวมทั้งมีความปลอดภัยในการใช้

Complement Ther Clin Pract. 2022;49:101666. doi: 10.1016/j.ctcp.2022.101666.