ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบของนมผึ้งจากภาคเหนือของประเทศไทย

ตัวอย่างนมผึ้ง (royal jelly) ที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงผึ้งในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ จำนวน 9 ตัวอย่าง ทั้งแบบสด (RJ-CM3 - RJ-CM8) และแบบผงแห้ง (RJ-LP1, RJ-CM1, RJ-CM2) ที่ละลายด้วยน้ำกลั่นให้มีความเข้มข้น 300 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนัง ได้แก่ Cutibacterium acnes, Corynebacterium spp., methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA), S. aureus, S. epidermidis และ Pseudomonas aeruginosa เมื่อทดสอบด้วยวิธี agar well diffusion มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (minimum inhibitory concentrations; MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Minimal bactericidal concentration; MBC) ทุกชนิดที่ทดสอบ อยู่ระหว่าง 18.75 - 150.00 มก./มล. โดยนมผึ้งจากลำพูน (RJ-LP1) และเชียงใหม่ (RJ-CM2, RJ-CM3, RJ-CM4) สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้ทุกชนิดที่ทดสอบ ขณะที่นมผึ้ง RJ-CM1 และ RJ-CM7 มีผลต้านเชื้อได้ทุกชนิด ยกเว้นเชื้อ P. aeruginosa การทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบของตัวอย่างนมผึ้ง ความเข้มข้น 5-20 มก./มล. ในเซลล์ macrophage RAW264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร lipopolysaccharide (LPS) พบว่านมผึ้ง RJ-CM1 มีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ทั้งก่อนและหลังการกระตุ้นด้วย LPS โดยยับยั้งได้ 85.12% และ 95.69% ตามลำดับ และมีค่า IC50 เท่ากับ 5.83 และ 4.46 มก./มล. ตามลำดับ รองลงมาคือ นมผึ้ง RJ-LP1 (IC50 15.99 และ 9.23 มก./มล. ตามลำดับ นมผึ้ง RJ-CM1 และ RJ-LP1 ที่ความเข้มข้น 5, 10 มก./มล. ยังมีผลยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ inducible nitric oxide synthase แต่ไม่มีผลต่อเอนไซม์ cyclooxygenase-2 และ interleukin-6 สำหรับการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของตัวอย่างนมผึ้งด้วยวิธี 2, 2’-azino-bis(3-ethylbenzothiazoline-6-sulphonic acid) พบว่านมผึ้ง RJ-CM1 และ RJ-CM2 มีฤทธิ์ดีที่สุด โดยมีค่าความ สามารถในการต้านอนุมูลอิสระของนมผึ้งเทียบกับสารละลายมาตรฐานโทรลอกซ์ (trolox equivalent antioxidant capacity; TEAC) เท่ากับ 4.13±1.89 และ 3.61±0.4 มก. TEAC/ก. นมผึ้ง ตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบในตัวอย่างนมผึ้งทั้ง 9 ตัวอย่าง พบว่ามีปริมาณของสารฟีนอลิกรวม เท่ากับ 1.82±0.38 - 8.61±1.57 มก. สมมูลของกรดแกลลิก/ก. นมผึ้ง และสารฟลาโวนอยด์รวม เท่ากับ 0.28±0.09 - 6.25±0.59 มก. สมมูลของเคอร์ซิติน/ก. นมผึ้ง โดยตัวอย่างนมผึ้ง RJ-CM1 จะมีปริมาณของสารทั้ง 2 สูงที่สุด

Molecules. 2023;28,996. doi: 10.3390/molecules28030996.