ฤทธิ์ของชมพู่สาแหรกต่อการเมแทบอลิซึมของไขมันและปกป้องตับในหนูแรท

การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดเมทานอลจากผลชมพู่สาแหรกหรือชมพู่ม่าเหมี่ยว (Syzygium malaccense) ในหนูแรท แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้อาหารปกติและกลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วแบ่งกลุ่มต่อออกเป็นกลุ่มที่ให้อาหารปกติ กลุ่มที่ให้อาหารปกติและให้สารสกัดชมพู่สาแหรก กลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูง และกลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูงและให้สารสกัดชมพู่สาแหรกต่ออีก 3 สัปดาห์ โดยให้สารสกัดชมพู่สาแหรกขนาด 400 มก./กก.นน.ตัว ผ่านทางปาก สารสกัดประกอบด้วยสารกลุ่ม phenolics ได้แก่ anthocyanins (26.59 มก./100 ก.), catechin (2.55 ± 0.33 มก./100 ก.) และ gallic acid (1.07 ± 0.20 มก./100 ก.) เป็นสารกลุ่มหลัก จากการทดสอบพบว่าสารสกัดมีผลในการปรับปรุงความทนต่ออินซูลินและกลูโคส แต่ให้ผลเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามสารสกัดมีผลทำให้ไขมันในเลือดลดลงและปกป้องตับจากภาวะไขมันคั่งสะสมในตับจากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารไขมันสูง หนูแรทไขมันสูงที่ได้รับสารสกัดชมพู่สาแหรกพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของกรดไขมันในตับและอุจจาระ ลดระดับคอเลสเตอรอลในตับ (20.5%) เพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระ (98%) คอเลสเตอรอล (10.5%) และน้ำดี (42.2%) เมื่อเปรียบเทียบกับหนูแรทไขมันสูงที่ไม่ได้รับสารสกัด และพบว่าสารสกัดมีผลลดการกินอาหารและไขมันในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของการทดสอบซึ่งช่วยส่งเสริมฤทธิ์ลดไขมันของสารสกัด จากผลการทดสอบครั้งนี้ สารสกัดชมพู่สาแหรกไม่มีผลปรับปรุงค่าดัชนีชี้วัดระดับน้ำตาล อย่างไรก็ตามมีผลในการปกป้องตับและเปลี่ยนแปลงเมแทบอลิซึมของไขมันเล็กน้อยในหนูแรทไขมันสูง อาจจะเป็นผลจากสารกลุ่ม phenolics ที่เป็นสารประกอบหลักในชมพู่สาแหรก อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Food Res Int. 2022;155:110994. doi: 10.1016/j.foodres.2022.110994.