ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากสมุนไพรในการลดคราบจุลินทรีย์และการอักเสบของเหงือกในผู้ป่วยที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ

การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ จำนวน 47 คน อายุ 20-48 ปี แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัด 95% เอทานอลจากใบมะกรูด 0.03%, น้ำยาบ้วนปากซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัด 95% เอทานอลจากใบมะกรูด 0.015% และสารสกัด 95% เอทานอลจากใบมะรุม 0.015% และน้ำยาบ้วนปากซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัด 95% เอทานอลจากใบมะกรูด 0.015% และสารสกัดจากใบสะเดา 0.015% โดยให้บ้วนปาก ปริมาณ 10-15 มล. เป็นเวลา 30 วินาที วันละ 2 ครั้ง หลังแปรงฟัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ให้บ้วนปากด้วย chlorhexidine gluconate 0.12% และกลุ่มควบคุม ประเมินผลจากค่าดัชนีคราบจุลินทรีย์ (plaque index, PI), ดัชนีสภาพเหงือก (gingival index, GI) และปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากที่เวลาเริ่มต้น (baseline) และวันที่ 15 พบว่ากลุ่มที่ใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด และ chlorhexidine gluconate จะมีค่า PI และ GI ลดลงมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ปริมาณของเชื้อ Staphylococcus spp. ในช่องปากในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปาก chlorhexidine gluconate จะลดลงมากที่สุด (54.11%) รองลงมาคือ กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบมะกรูดและสารสกัดจากใบมะรุม (45.53%), กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบมะกรูดและสารสกัดจากใบสะเดา (33.23%) และกลุ่มได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบมะกรูด (30.14%) ขณะที่ปริมาณของเชื้อ Candida spp. จะลดลงมากที่สุดในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบมะกรูดและสารสกัดจากใบสะเดา (35.83%) รองลงมาคือ กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบมะกรูดและสารสกัดจากใบมะรุม (20%) และกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปาก chlorhexidine gluconate (17.63%) แสดงว่าน้ำยาบ้วนปากสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบมะกรูด, มะรุม และสะเดา มีประสิทธิภาพในการลดการเกิดคราบจุลินทรีย์ และลดการอักเสบของเหงือกในผู้ป่วยที่เป็นโรคเหงือกอักเสบได้

Plants. 2021;10, 1153. doi. 10.3390/plants10061153.