ฤทธิ์ลดไขมันในช่องท้องของสาร polymethoxyflavone จากกระชายดำ

การศึกษาทางคลินิกแบบมีการสุ่ม ปกปิดสองทาง และมีกลุ่มควบคุมเป็นยาหลอกโดยทำการทดลองแบบคู่ขนาน เพื่อศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในช่องท้อง (visceral fat) ของสาร polymethoxyflavone ซึ่งแยกได้จากสารสกัด 60% เอทานอลของเหง้ากระชายดำ (Kaempferia parviflora) ในอาสาสมัครทั้ง 2 เพศ อายุระหว่าง 20 – 64 ปี และมีภาวะอ้วน (มีค่า BMI ระหว่าง 23 - 30 กก./ม2) จำนวน 80 คน โดยอาสาสมัครจะถูกสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับแคปซูลบรรจุสาร polymethoxyflavone ขนาด 12 มก./วัน และกลุ่มที่ 2 ได้รับแคปซูลบรรจุยาหลอก ทำการวิเคราะห์การลดลงของไขมันในช่องท้อง (visceral fat area; VFA), ไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat area; SFA) และผลรวมของไขมัน (total fat area; TFA) ในสัปดาห์ที่ 0, 8, และ 12 พบว่ากลุ่มที่ได้รับสาร polymethoxyflavone มีค่า VFA ลดลงอย่างชัดเจนในสัปดาห์ที่ 12 และลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 เช่นเดียวกับค่า SFA และ TFA ซึ่งลดลงอย่างชัดเจนในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 โดยลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ยังไม่พบอาการข้างเคียงหรือความผิดปกติใดๆ ตลอดการทดลอง แสดงให้เห็นว่า สาร polymethoxyflavone จากเหง้ากระชายดำอาจช่วยลดไขมันในช่องท้องของผู้ที่มีภาวะอ้วนได้

Food Funct. 2021;12(4):1603-13.