ผลของหญ้าฝรั่นต่อภาวะจอประสาทตาเสื่อม

การศึกษาทางคลินิก (randomised, double-blinded, placebo-controlled crossover trial) ในอาสาสมัครผู้ใหญ่ 100 คน อายุมากกว่า 50 ปี ที่มีภาวะจอประสาทตาเสื่อม (age-related macular degeneration: AMD) ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีค่าสายตามากกว่า 20/70 Snellen equivalent อย่างน้อย 1 ข้าง คัดเลือกอาสาสมัครที่มีรอยโรคของตาและโรคทางระบบทางเดินอาหารออกจากการทดสอบ ทำการทดสอบโดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็นกลุ่มทดสอบที่จะได้รับหญ้าฝรั่น 20 มก./วัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก หลังจากนั้นสลับการรักษา ประเมินผลการศึกษาหลักโดยตรวจคุณภาพการมองเห็นด้วย best corrected visual acuity (BCVA) และตรวจการทำงานของเซลล์จอประสาทตาด้วย multifocal electroretinogram (mfERG) ประเมินผลการศึกษารองโดยการวัดเกี่ยวกับความปลอดภัยและการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มอาสาสมัครที่รับประทานหญ้าฝรั่นร่วมกับอาหารที่ช่วยชะลอการเกิดภาวะ AMD (age-related eye disease study; AREDS) ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับหญ้าฝรั่นมีผลในการปรับปรุงค่าเฉลี่ย BCVA 0.69 letters และค่าเฉลี่ยร่วมของเวลาการตอบสนองของจอประสาทตาลดลง 0.17 มิลลิวินาทีเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก และผลการทดสอบในกลุ่มอาสาสมัคร AREDS พบว่ามีผลปรับปรุงค่าเฉลี่ย BCVA 0.73 letters และค่าเฉลี่ยร่วมความหนาแน่นของประสาทตา เพิ่มขึ้น 2.8% และไม่พบความแตกต่างของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ จากผลการทดสอบครั้งนี้สรุปได้ว่าหญ้าฝรั่นมีผลในการปรับปรุงการมองเห็นในอาสาสมัครที่มีภาวะจอประสาทตาเสื่อม อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Graefes Arch Clin Exp Ophthalmol. 2019;257(1):31-40.