ฤทธิ์ต้านอาการอ่อนล้าของโสมเกาหลีในผู้ป่วยอาการอ่อนล้าเรื้อรัง

การศึกษาแบบสุ่มปกปิดสองทางในผู้ป่วยโรคอ่อนล้าเรื้อรัง (chronic fatigue) จำนวน 50 คน อายุ 19-65 ปี สุ่มแบ่งผู้ป่วยให้ได้รับสารสกัดจากโสมเกาหลี ขนาด 3 ก./วัน หรือยาหลอก เป็นเวลา 6 สัปดาห์ จากนั้นทำการประเมินผลลัพธ์หลักของระดับอาการอ่อนล้าของผู้ป่วยโดยใช้ Visual Analogue Scale (VAS) ด้วยการให้คะแนน 0-100 ความรุนแรงของอาการอ่อนล้าที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจในชีวิตประจำวัน ด้วยแบบสอบถาม fatigue severity scale (FSS), Chalder fatigue severity questionnaire (CFSQ) และ stress response inventory (SRI) และประเมินผลลัพธ์รองด้านอาการซึมเศร้า การนอนหลับ และคุณภาพชีวิตด้วยแบบประเมิน Beck depression inventory (BDI), insomnia severity index (ISI) และ five-level EuroQol-5 Dimension (EQ-5D 5 L) ตามลำดับ ร่วมกับการตรวจวัดสารชีวเคมีในเลือด ได้แก่ derivatives of reactive oxygen metabolites (d-ROMs), thiobarbituric acid reactive species (TBARS), biological antioxidant potential (BAP), and superoxide dismutase (SOD) และระดับคอติซอลในน้ำลาย ผลการศึกษาพบว่าระดับความอ่อนล้าในอาสาสมัครลดลงทั้งในสองกลุ่มแต่ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และไม่พบการเปลี่ยนแปลงในการประเมินผลลัพธ์ด้านอื่นๆ ในอาสาสมัครทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์กลุ่มย่อยตามอายุของผู้ป่วย พบว่าค่า VAS ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโสมเกาหลีให้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปี จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าฤทธิ์ต้านอาการอ่อนล้าของโสมเกาหลีเกี่ยวข้องกับอายุของผู้ป่วย โดยให้ผลดีในผู้ป่วยวัยกลางคนที่มีอาการอ่อนล้าเรื้อรังแบบปานกลาง

Comp Ther Med. 2020;48:102246