สาร geraniin จากเปลือกผลเงาะป้องกันสภาวะเครียดออกซิเดชันในหนูที่ได้รับอาหารไขมันสูง

สาร geraniin ซึ่งเป็นสารกลุ่มไฮโดรไลเซเบิล โพลีฟีนอล (hydrolysable polyphenol) ที่แยกได้จากเปลือกผลเงาะ (Nephelium lappaceum L.) แสดงฤทธิ์ต้านสภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดโรคอ้วน (obesity) จากการได้รับอาหารไขมันสูง (high fat diet, HFD) เป็นเวลา 10 สัปดาห์ เสริมด้วยการได้รับสาร geraniin ในขนาด 10 และ 50 มก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลา 4 สัปดาห์ (สัปดาห์ที่ 7 – 10) ผลการทดลองพบว่า หนูแรทกลุ่มที่ไม่ได้รับสาร geraniin จะมีดัชนีสภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress index) สูง หนูแรทที่ได้รับสาร geraniin โดยเฉพาะในขนาด 50 มก./กก. น้ำหนักตัว สามารถควบคุมสภาวะเครียดออกซิเดชันจากการได้รับอาหารไขมันสูงได้ โดยรักษาระดับ oxidative stress biomarkers ต่างๆ เช่น ลดปริมาณ malondialdehyde ลดระดับ protein carbonyl content เพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ peroxide dismutase, glutathione peroxidase, และ glutathione reductase เพิ่มระดับ total glutathione และรักษาอัตราส่วนระหว่าง reduced/oxidized glutathione ได้ใกล้เคียงกับหนูแรทกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารปกติ ผลการทดลองยังพบว่าการได้รับอาหารไขมันสูงต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการตาย (necrosis) ของเซลล์ตับอ่อนหนูแรท โดยโรคอ้วนจากการได้รับอาหารไขมันสูงในหนูแรทจะก่อให้เกิดความเป็นพิษจากไขมัน (lipotoxicity) และความผิดปกติในการเมแทบอลิซึม กลูโคสในตับอ่อน การได้รับสาร geraniin ช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนและปกป้องตับอ่อนจากการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 (type-2 diabetes mellitus) โดยไม่แสดงความเป็นพิษ การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสาร geraniin ในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมนอกเหนือจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคอ้วนและพยาธิสภาพข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

Front Nutr 2018;5:17.