ผลของการบริโภคสารสกัดชาเขียว สารสกัดดอกกระเจี๊ยบต่อภาวะที่เซลล์และกล้ามเนื้อถูกทำลายจากภาวะเครียดออกซิเดชันในนักกีฬาฟุตบอล

การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย ในนักกีฬาฟุตบอลชาย จำนวน 54 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 18 คน กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานสารสกัดชาเขียว ขนาด 450 มก./วัน กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานสารสกัดดอกกระเจี๊ยบ ขนาด 450 มก./วัน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุมให้รับประทาน maltodextrin ขนาด 450 มก./วัน หลังอาหารกลางวันทุกวัน นาน 6 สัปดาห์ และเจาะเลือดก่อนและสิ้นสุดการทดลอง เพื่อดูระดับเอนไซม์ในเลือดที่ทำให้เกิดผลเสียต่อกล้ามเนื้อ เช่น aspartate aminotransferase (AST), creatinine kinase (CK), lactat dehydrogenase (LDH) สารที่ใช้บ่งบอกภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) คือ malondialdehyde (MDA) และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวม (TAC) พบว่านักกีฬากลุ่มที่ได้รับสารสกัดชาเขียว และสารสกัดดอกกระเจี๊ยบแดงระดับ MDA ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดดอกกระเจี๊ยบแดงมีระดับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระโดยรวม (TAC) เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารสกัดชาเขียวและกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามการรับประทานสารสกัดชาเขียว และสารสกัดดอกกระเจี๊ยบแดงไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อที่เสียหายหรือถูกทำลายจากการออกกำลังกาย จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานสารสกัดชาเขียว และสารสกัดดอกกระเจี๊ยบแดงมีผลดีต่อภาวะที่เซลล์ถูกทำลายด้วยภาวะเครียดออกซิเดชันในนักกีฬาชาย ซึ่งสารสกัดชาเขียว และสารสกัดกระเจี๊ยบแดงไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อที่ถูกทำลายของนักกีฬา

Journal of Dietary Supplement 2017;14(3):346-57.