ฤทธิ์ต้านภาวะเบาหวานของกระเทียมดำ

กระเทียมดำเกิดจากการนำกระเทียมสดมาบ่มภายใต้สภาวะที่มีอุณหภูมิสูงและควบคุมความชื้น (aging process) ซึ่งกระเทียมดำนี้จะอุดมไปด้วยสาร S-allylcysteine (SAC), polyphenols และ flavonoids ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย การศึกษาฤทธิ์ต้านภาวะเบาหวานของกระเทียมดำ ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin (STZ) โดยแบ่งหนูเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ได้รับ STZ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 3 ได้รับ STZ + น้ำคั้นกระเทียมสด 200 มก./กก./วัน กลุ่มที่ 4 ได้รับ STZ + น้ำคั้นกระเทียมดำ (aged black garlic juice; BGJ) 200 มก./กก./วัน กลุ่มที่ 5 ได้รับ STZ + น้ำคั้นกระเทียมดำที่ผ่านกระบวนการบ่มโดยใช้เอนไซม์ pectinase และแรงดันน้ำความดันสูง (High hydrostatic pressure) (PBGJ) 100 มก./กก./วัน และกลุ่มที่ 6 ได้รับ STZ + PBGJ 200 มก./กก./วัน โดยใช้ระยะเวลา 31 วัน จากการทดลองพบว่า PBGJ มีฤทธิ์ต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่ดี รวมทั้งทำให้โครงสร้างและการทำงานของเบต้าเซลล์ (β-cell) ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพดีกว่า BGJ ด้วย และจากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า PBGJ มีปริมาณของ SAC, polyphenols และ flavonoids สูงกว่า BGJ และกระเทียมสด ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับต้านภาวะเบาหวานได้

J Agric Food Chem 2017;65:358-63.