ผลของการรับประทานสารสกัดใบแป๊ะก๊วยต่ออาการทางจิตเวชและระบบประสาทในผู้ป่วยความจำเสื่อม

ศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดใบแป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba) ต่ออาการทางจิตเวชและระบบประสาทในผู้ป่วยความจำเสื่อมระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง (mild to moderate dementia) จำนวน 402 คน ทั้งเพศชายและหญิง โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 (จำนวน 200 คน, อายุเฉลี่ย 65.1 ± 8.8 ปี) ให้รับประทานสารสกัด EGb 761 จากใบแป๊ะก๊วย (ประกอบด้วย ginkgo flavonoids 22-27%, terpene lactones 5-7%) วันละ 240 มก. นานติดต่อกัน 24 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 (จำนวน 202 คน, อายุเฉลี่ย 64.9 ± 9.4 ปี) ให้รับประทานยาหลอก ประเมินอาการด้านจิตเวชศาสตร์ของผู้ป่วยด้วยแบบทดสอบ neuropsychiatric inventory (NPI) และประเมินความทุกข์ยากของผู้ดูแลผู้ป่วยจากการประเมินความเครียด การขาดความใส่ใจ และการนอนในตอนกลางคืนด้วยแบบทดสอบ caregiver distress ผลจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่รับประทานสารสกัด EGb 761 มีค่าคะแนนในแบบทดสอบ NPI และ caregiver distress ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ (NPI; 4.6 ± 7.1 vs. 2.1 ± 6.5 และ caregiver distress; 2.4 ± 4.5 vs. 0.5 ± 4.0) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การรับประทานสารสกัด EGb 761 จากใบแป๊ะก๊วยมีผลช่วยให้อาการทางจิตเวชและระบบประสาทในผู้ป่วยความจำเสื่อมดีขึ้น และช่วยให้ลดความลำบากในการดูแลผู้ป่วย

Open Access Journal of Clinical Trials. 2016; 8: 1-6