ฤทธิ์การหลั่งสารเมือกของเหง้าขิงในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

ศึกษาในหนูแรทเพศผู้ที่อดอาหารมานาน 24 ชม. จากนั้นแบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ป้อน 1% sodium carboxy-methyl cellulose กลุ่มที่ 2-5 ป้อนสารสกัดจากเหง้าขิง ขนาด 0.1, 0.25, 0.5 และ 1.0 มก./กก. ทางสายยางให้อาหาร ตามลำดับ กลุ่มที่ 6 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน ranitidine ขนาด 50 มก./กก. หลังจากนั้น 30 นาที เหนี่ยวนำหนูให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยกรดไฮโดรคลอริค ด้วยความเครียดโดยการขังกรงและแช่น้ำ (water immersion restrain stress) และ aspirin พบว่าสารสกัดจากเหง้าขิงขนาด 1 มก./กก. ได้ผลดีที่สุดโดยสามารถลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูแรทได้ถึง 81.7, 44.1, 68.2% ตามลำดับ เมื่อเหนี่ยวนำด้วยกรดไฮโดรคลอริค ความเครียด และ aspirin ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาแผนปัจจุบัน (ranitidine) สามารถลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 68.7, 86.4 และ 95.5% เมื่อเหนี่ยวนำด้วยกรดไฮโดรคลอริค ความเครียดโดยการขังกรงและแช่น้ำ และ aspirin ตามลำดับ เช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากเหง้าขิงมีการหลั่งสารเมือกในกระเพาะอาหารมาก แต่ไม่มีผลต่อค่าความเป็นกรด-ด่าง ของสารเมือกในกระเพาะอาหาร และการหลั่งเอนไซม์เปบซิน จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าสารสกัดจากเหง้าขิงสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ปานกลางโดยไปเพิ่มการหลั่งสารเมือกมาเคลือบกระเพาะอาหารของหนูแรท

Thai Journal of Pharmaceutical Sciences 2016;40:1-8.