สารเคอร์คูมินยับยั้งฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของยาวินบลาสติน

การศึกษาอันตรกิริยาระหว่างยาและสารจากธรรมชาติของสารเคอร์คูมิน (curcumin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม polyphenols ที่พบได้ในเหง้าของขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn) พบว่าสารเคอร์คูมินเข้าจับกับบริเวณจำเพาะของไมโครทิวบูล (specific binding site on microtubules) ทำให้การออกฤทธิ์ของยารักษามะเร็งวินบลาสติน (vinblastine) ลดลง (ยาวินบลาสตินออกฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยการเหนี่ยวนำให้ไมโครทิวบูลเกิดการสลายตัว (microtubule depolymerization) ส่งผลให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวได้) เมื่อทำการทดสอบกับเซลล์มะเร็งปากมดลูกชนิด HeLa โดยพบว่าเซลล์ที่ได้รับสารเคอร์คูมินจะมีสายไมโครทิวบูล (microtubule filaments) ที่ผิดปกติ และเซลล์ที่ได้รับยาวินบลาสตินหลังจากได้รับสารเคอร์คูมิน จะมีการสลายตัวของไมโครทิวบูลและการตายของเซลล์มะเร็งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็งที่ได้รับสารเคอร์คูมินเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีการตายของเซลล์มะเร็งลดลง และลดลงมากกว่าการให้ร่วมกับยาวินบลาสตินด้วย โดยสารเคอร์คูมินทำให้กลไกการออกฤทธิ์ของยาวิน-บลาสตินลดลง เช่น ทำให้การรวมตัวของดีเอ็นเอ (DNA condensation) และการสร้าง reactive oxygen species (ROS) ลดลง รวมทั้งยับยั้งการรบกวนค่าความต่างศักย์บริเวณเยื้อหุ้มไมโตคอนเดรีย (mitochondrial membrane potential; MMP) ของยาวินบลาสตินด้วย จากผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารเคอร์คูมินทำให้การออกฤทธิ์รักษามะเร็งของยาวินบลาสตินลดลงด้วยกลไกข้างต้น ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาวินบลาสตินควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีสารเคอร์คูมินเป็นส่วนประกอบ

Phytomedicine 2016;23:705-13.