ฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารจากการถูกทำลายด้วยยาแอสไพรินของตังเซียมและคำฝอย

การศึกษาฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารจากการถูกทำลายด้วยยาแอสไพริน (ASA) ของตำรับสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของรากตังเซียมและดอกแห้งของคำฝอย (Salvia miltiorrhiza-Carthamus tinctorius , Danhong injection; DHI*) ในหนูแรท และศึกษาผลต่อการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase (COX), การหลั่งสารเมือกในกระเพาะอาหาร, การทำงานของเอนไซม์เปปซิน, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และระดับของ reactive oxygen species (ROS) พบว่าการให้ DHI ขนาด 4.16 มล./กก. ร่วมกับ ASA 10.41 มก./กก. (การทดลองในหนูแรทใช้เวลา 28 วัน) สามารถลดการถูกทำลายของเยื่อบุกระเพาะอาหารจาก ASA ได้ โดยหากฉีด DHI ก่อนให้ ASA จะป้องกันการถูกทำลายได้ 55.8% แต่ถ้าฉีด DHI หลังให้ ASA เป็นเวลา 2 ชม. จะป้องกันการถูกทำลายได้ 53.5% และหากให้ DHI ร่วมกับการให้ ASA แบบระยะยาว (long-term) ก็สามารถป้องกันการถูกทำลายได้ 52.0% นอกจากนี้ DHI ยังกระตุ้นการหลั่งสารเมือกในกระเพาะอาหาร ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์เปปซิน และทำให้ชั้นของเยื่อบุกระเพาะอาหารกลับสู่สภาวะปกติ การศึกษาเพิ่มเติมพบว่า DHI มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งเกิดจากการเหนี่ยวนำด้วย ASA โดยทำให้ระดับของ ROS รวมทั้ง malondialdehyde ลดลง และทำให้เอนไซม์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น catalase, glutathione peroxidase, superoxide dismutase เพิ่มขึ้น และการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยดูผลจากการทำงานของเอนไซม์ COX ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่บ่งชี้ถึงภาวะอักเสบ พบว่าการให้ DHI ร่วมกับ ASA สามารถยับยั้งการทำงานของ COX-1 ได้เพิ่มขึ้น จาก 38.6% (ASA เพียงอย่างเดียว) เป็น 62.8% (ASA-DHI) และสามารถยับยั้งการทำงานของ COX-2 ได้เพิ่มขึ้น จาก 28.9% (ASA เพียงอย่างเดียว) เป็น 38.8% (ASA-DHI) ทำให้สรุปได้ว่า DHI สามารถปกป้องกระเพาะอาหารจากการถูกทำลายด้วย ASA โดยไม่ยับยั้งการออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของ ASA และยังเพิ่มฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ COX ของ ASA ด้วย

* สารสำคัญใน DHI คือ (R)-3, 4-dihydroxyphenyllactic acid sodium salt, procatechuic aldehyde, salvianolic acid D, rosmarinic acid, salvianolic acid B และ salvianolic acid A

Phytomedicine 2016;23:662-71.