ฤทธิ์ป้องกันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังของเมล็ดหัวผักกาด

การศึกษาฤทธิ์ของเมล็ดหัวผักกาด (Raphanus sativus L.) ในการป้องกันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลเรื้อรังในลำไส้ด้วย trinitrobenzenesulphonicacid (TNBS) และ dextran sodium sulfate (DSS) จากนั้นป้อนสารสกัดน้ำจากเมล็ดหัวผักกาดขนาด 10, 40, 70 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว หรือยารักษาโรคลำไส้อักเสบเมซาลาซีน (mesalazine) ขนาด 25 มก./กก.น้ำหนักตัว ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 7 วัน พบว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดหัวผักกาดช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังได้ทั้งหนูแรทที่ถูกกระตุ้นด้วย TNBS และ DSS โดยสารสกัดจากเมล็ดหัวผักกาดที่ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้ผลป้องกันความเสียหายของลำไส้ได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาเมซาลาซีน สามารถลดการทำงานของเอนไซม์ myeloperoxidase ลดการหลั่ง tumor necrosis factor (TNF)-α และ interleukin (IL)- 1β ยับยั้งการสร้าง malondialdehyde และป้องกันการลดลงของ glutathione ในลำไส้ใหญ่ รวมถึงกดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ได้แก่ TNF-α, IL-1β, monocyte chemotactic protein-1, inducible nitric oxide และ intercellular adhesion molecule-1 นอกจากนี้ยังยับยั้งการทำงานของ p38 kinase และ DNA–nuclear factor-κB ได้ทั้งหนูแรทที่ถูกกระตุ้นด้วย TNBS และ DSS ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากเมล็ดหัวผักกาดช่วยบรรเทาความเสียหายของลำไส้ได้ทั้งจากสภาวะความเครียดออกซิเดชันและกระบวนการอักเสบ

J Ethnopharmacol 2016;179:55-65